วันพฤหัสบดีที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ว่าด้วยเรื่องเหตุผล (ตอนที่ 1)


            เหตุผล เป็นสิ่งที่พิเศษที่สุดของมนุษย์ทุกคน ทำให้เราได้เข้าใจสิ่งต่างๆ บนโลกนี้ที่มีความเกี่ยวโยงหรือเชื่อมต่อกัน ทั้งสิ่งที่เป็นของที่เราจับต้องได้ รับรู้ได้ผ่านสัมผัส และสิ่งที่เป็นนามธรรมอยู่ในความคิด เป็นหลักการ แนวทาง ทฤษฏี ชุดข้อมูลที่ร้อยเรียงกันกลายเป็นแหล่งความรู้ที่มีเรื่องราว ประสบการณ์  สิ่งที่ได้ทำการทดสอบเพื่อยืนยันหลักความคิดของมนุษย์  ถ้าหากเรามีความเชื่อต่อสิ่งใดอันจะนำมาสู่การกระทำล้วนมาจากเหตุผล ไม่เชื่อสิ่งใดเราจะใช้ความเป็นเหตุผลมาตัดสิน ซึ่งขึ้นอยู่กับน้ำหนักของการเชื่อมโยง ผนวกกับการรับรู้ของมนุษย์ หากความเชื่อที่ทำให้รู้สึกได้ผ่านสัมผัสต่างๆ ยิ่งผ่านสัมผัสกระทบกับอวัยวะที่รับมากเท่าไหร่ ยิ่งสร้างความเชื่อได้มากขึ้นเท่านั้น เช่น หากเรื่องราวหนึ่งมีอยู่เพียงในหนังสือจะสร้างความเชื่อได้น้อยกว่าที่มนุษย์จะได้เห็นเรื่องราวนั้นด้วยตาและกายสัมผัส เป็นต้น  เมื่อการรับรู้ผ่านสัมผัสของมนุษย์รวมกับหลักความเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนัก มีความเชื่อมโยง ไร้ช่องโหว่ของการไม่สอดประสานกันของเรื่องราว จะทำให้เรื่องราว ความเชื่อ ความคิด หรือวัตถุกายภาพ มีความน่าเชื่อถือเพิ่มขึ้นตามลำดับ

แต่เราไม่สามารถแยกลำดับของความน่าเชื่อถือ ที่มาจากการใช้เหตุผลหาความเชื่อมโยงของเรื่องราวต่างๆ มาตัดสินเป็นสัดส่วนที่นับได้ดั่งตรรกะของตัวเลข เราบอกได้เพียงว่า เรื่องหนึ่งมีความน่าเชื่อถือ มากหรือน้อยกว่าอีกเรื่องหนึ่งเท่านั้น เราไม่สามารถบอกได้แน่ชัดว่ามีความห่างชั้นของระดับความน่าเชื่อถือเท่าไหร่ ซึ่งถ้าหากเราสามารถแบ่งได้ มนุษย์ทุกคนบนโลกก็จะสามารถแจกแจงออกมาในสัดส่วนที่เท่ากันได้ จะเห็นได้ว่าผลวิจัย ผลสำรวจต่างๆ ถ้าหากหัวข้อใดถามเกี่ยวกับเรื่องความน่าเชื่อถือ คำตอบที่ได้ล้วนมีความไม่เท่ากัน ถึงแม้จะมีตรรกะของตัวเลขมาเป็นรูปแบบที่ใช้ในการวัดความน่าเชื่อถือ สิ่งที่ทำได้เป็นเพียงค่าเฉลี่ยของสัดส่วนทั้งหมด สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ อันเนื่องมาจากความแตกต่างของสภาพแวดล้อมของมนุษย์แต่ละคน เพราะมนุษย์แต่ละคนเกิดมาในสภาพแวดล้อมที่ต่างกัน ถ้าสมมุติว่าโลกนี้เป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ ทุกคนลืมตามาเรียนอยู่ในห้องเรียนที่มีเพียงห้องเดียว ก็พอจะเป็นไปได้บ้างว่าระดับการวัดความน่าเชื่อถือจะเท่ากันหมด แต่ยังไงซะความเป็นจริงก็ไม่ใช่แบบนั้น  “ความเป็นเหตุผลของแต่ละคนจึงมีความไม่เท่ากัน”



เมื่อความเป็นเหตุเป็นผลของแต่ละคนไม่เท่ากัน นำไปสู่ความแตกต่างของความคิด ความเชื่อ การกระทำ การพูด บุคลิกลักษณะภายนอก วิถีชีวิตความเป็นอยู่ อัตลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นตัวตนของแต่ละบุคคล อยู่ในสิ่งที่เป็นรูปธรรมและสิ่งที่เป็นนามธรรมของแต่ละบุคคล เมื่อเกิดความแตกต่างก็ยังเกิดความเหมือนคล้ายของมนุษย์นำมาซึ่งความเป็นกลุ่มเป็นก้อน เป็นครอบครัว เป็นสังคม เป็นประเทศชาติ และด้วยความเป็นเหตุเป็นผลทำให้เรากระทำด้วยอาศัยหลักการนี้ เช่น ถ้าเราจะซื้อสินค้าหรือบริการใดๆ เราจะตั้งคำถามออกมาโดยธรรมชาติของหลักเหตุผลว่า ทำไมเราต้องซื้อสิ่งนั้น ต่อมาจึงถามต่อไปอีกว่า ทำไมต้องเลือกซื้อ Brand หรือยี่ห้อนั้น ซึ่งผลสรุปที่ได้ คือ เราได้หาเหตุผลที่มีความเชื่อมโยงอย่างถูกต้อง ไม่มีความขัดแย้งของเหตุและผล ตรงกับความเชื่อ ทำให้เราเกิดทัศนคติที่ดีต่อสินค้านั้น นำไปสู่การตัดสินใจและซื้อในที่สุด แต่เหตุผลเหล่านั้น มันไม่ได้มีขึ้นมาตามธรรมชาติ มันถูกสร้างขึ้นจากนักการตลาดหรือพ่อค้านักธุรกิจ โจทย์คำถามของเหตุผลเหล่านั้นถูกตั้งขึ้นและถูกวางทิศทางการเชื่อมโยงของความเป็นเหตุเป็นผล ก่อนที่เราจะรับรู้ได้ถึงการมีตัวตนของสินค้านั้นๆ ซึ่งเหตุผลถูกเชื่อมโยงไปในทิศทางของ ความคิด ความเชื่อ ลักษณะความแตกต่างของ อัตลักษณ์ของแต่ละบุคคล สินค้าจึงกลายมาเป็นสิ่งของกายภาพที่บอกภาพลักษณ์และบอกความเป็นเหตุผลอันเป็นสิ่งที่จะผลักดันให้เกิดการกระทำของคนๆนั้น

มนุษย์แต่ละคนมีความแตกต่างกัน อันเนื่องด้วยหลักของเหตุผล จึงนำมาสู่ความขัดแย้งทางความคิด ไล่เรียงไปถึงการกระทำ ความขัดแย้งภายในครอบครัว พ่อแม่ พี่น้อง ลูกหลาน ในหมู่ญาติ ความขัดแย้งของสามีภรรยา ของการครองคู่ในฐานะคนดูใจกันอยู่ ความขัดแย้งภายในกลุ่มหรือต่างกลุ่มกัน ความขัดแย้งในหมู่เพื่อนฝูง ในที่ทำงาน ความขัดแย้งของสังคมทั้งภายในและภายนอกที่ต่างสังคมกัน ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ลุกลามกันไปเรื่อยๆ เท่าที่จะมีเรื่องราวเกิดขึ้น เมื่อเรื่องราวหนึ่งเกิดขึ้น อาจเกิดจากใครสักคนหรือเกิดจากความเป็นธรรมชาติเดิมที่มีอยู่แล้ว ความขัดแย้งจะเกิดขึ้นอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยคำว่า “เหตุผล”


ติดตามแง่มุมเกี่ยวกับเรื่องของเหตุผลตอนที่ 2 (http://in2dept.blogspot.com/2013/06/2_14.html)

4 ความคิดเห็น:

  1. ทุกคนมีเหตุผล และแต่ละคนก็มักจะอ้างเหตุผลเมื่อเกิดความขัดแย้ง
    แต่ในขณะขัดแย้งกัน ช่วยหาเหตุผลของการที่เราจะไม่รักกันอีกแล้วให้หน่อยครับ ถ้าใช้เวลาหานานเกินก็เลิกขัดแย้งกลับมาคุยแลกเปลี่ยนความแตกต่างกันดีกว่าครับ

    ตอบลบ
  2. ถ้าคำถามคุณคือ คำถามนี้ "ช่วยหาเหตุผลของการที่เราจะไม่รักกันอีกแล้ว" ผมคิดว่าเดี๋ยวลองอ่านตอนที่สอง ซึ่งมีเรื่องเกี่ยวกับเรื่องนี้ หรือถ้าคำตอบในบทความยังไม่ตรงประเด็น ผมจะมาตอบให้ แต่ยังขอให้ขยายคำถามอีกทีนะครับ เพราะผมยังไม่แน่ใจว่าความเห็นคุณเป็นคำถามหรือการแสดงความเห็น

    ตอบลบ
  3. เป็นการแสดงความเห็นเชิงเสนอแนะครับ

    โดยส่วนใหญ่คนเราเถียงกันไปกันมาก็มักจะมีอารมณ์ จนบางครั้งเลยเถิดโกรธเกลียดกันเพียงเพราะคิดเห็นไม่เหมือนกัน

    ดังนั้นเมื่อทุ่มเถียงกันจนเกิดอารมณ์ขุ่นมัวจึงขอให้เบรคตัวเองซักนิดแล้วหาเหตุผลของการที่เราจะไม่รักกันอีกแล้วว่ามีมั้ย ในจังหวะนั้นสติจะมาและเมื่อเรารู้ว่าชัยชนะของการทุ่มเถียงมันด้อยค่ากว่าสายสัมพันธ์ เราจะเลิกทุ่มเถียงเปลี่ยนมาเป็นคุยแลกเปลี่ยนความคิดกันครับ

    ตอบลบ
  4. เข้าใจแระครับ :) ขอบคุณสำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมครับ

    ตอบลบ