วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2556

ว่าด้วยเรื่องเหตุผล (ตอนที่ 2)


ถ้าเราไม่มีหลักการของเหตุผลเราจะอยู่บนโลกนี้อย่างไร ถ้าเราเกิดมาไร้ซึ่งเหตุผลใดๆ  จะเกิดประโยชน์ในการที่เราไม่รู้ ไม่เข้าใจความเชื่อมโยงของสิ่งต่างๆไหม 

เราทุกคนเคยมีช่วงเวลาของการไร้เหตุผลอยู่เหมือนกัน ในช่วงที่เรายังเป็นเด็ก เราไม่ได้ใช้เหตุผลในการดำเนินชีวิต เราใช้ความรู้สึกที่รับรู้ได้ผ่านสัมผัสทั้งหมดดำเนินชีวิตไป เราไม่ได้มานั่งหาเหตุผลของเรื่องราวใดๆ บนโลกบนนี้ หากคุณนึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ลองมองเด็กๆแถวบ้านคุณดูสิ เด็กที่ไม่ได้แก่แดดมาจากการดูโทรทัศน์หรือทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ผลักดันให้ทำเพื่อเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการ เด็กๆเหล่านั้นจะมีความสุข สนุก ชอบที่จะเล่น กระโดดโลดเต้นไปกับการใช้ชีวิตอยู่บนโลก ท่าทางในการเดินจะไม่เดินแบบผู้ใหญ่ที่คิดว่าการเดินเต็มสองเท้าเป็นสิ่งที่ควรทำ จะกระโดด ไปมา บ้างวิ่ง ลอยอยู่บนอากาศเสมือนโลกนี้ไร้ซึ่งแรงดึงดูด เหมือนกับว่าตัวของพวกเขาไร้น้ำหนัก พวกเขาพร้อมที่จะรับเพื่อนใหม่อยู่เสมอ ไม่กีดกันด้วยความเป็นชายหญิง ไร้ซึ่งเหตุผลใดๆ จะมาหยุดความสนุกของพวกเขาได้ นอกจากความเป็นเหตุผลของผู้ใหญ่ที่นำใส่เข้าไปในหัวเด็ก บอกว่าให้ทำกริยาการเดินให้ดีบ้างให้ทำเหมือนคนปกติบ้าง เล่นให้น้อยลงบ้าง  ฯลฯ สารพัดจะใส่ลงไปเท่าที่ความเป็นเหตุผลของผู้ใหญ่เหล่านั้นมี หากเราใช้ชีวิตแบบเด็กๆ นั่นอาจจะนำพามาซึ่งความไม่ขัดแย้ง ความไม่ถือตน ความไม่ให้ท้ายตัวเอง และทำให้เรามีความสุขได้เช่นเดียวกับหาความสอดคล้องของเหตุผลเรื่องหนึ่งๆเพื่อที่จะเชื่อบางสิ่งบางอย่างก่อนลงมือทำอะไร

ก่อนที่เราจะมานั่งคิดหาความจริงของเรื่องหนึ่งๆ เพื่อที่เราจะเชื่อต่อแนวคิวหรือความเชื่อใด ถ้าเราไม่รู้ว่าสิ่งใดเชื่อได้หรือไม่ได้ เป็นจริงหรือไม่จริงนั้น อันดับแรกที่ควรพิจารณา คือ มันประโยชน์ที่แท้จริงมากน้อยแค่ไหน ถ้าไม่ได้มีประโยชน์อันใดในการหาข้อเท็จจริง เราก็ควรจะเลิกที่จะหาข้อเท็จจริงเหล่านั้น เช่น ถ้ามีคนมาเล่าให้ฟังว่าเฒ่าแก่ที่เปิดร้านขายอุปกรณ์ก่อสร้างอยู่ปากซอยบ้านมีเมียอยู่หลายจังหวัด ถ้าหากเราเป็นคนที่สนิทชิดเชื้อกับเฒ่าแก่คนนั้นแน่นอนว่าเราอาจจะไม่เชื่อในทันทีทันใดที่รับฟัง แต่ถามว่า จริงๆ แล้วมันจะมีประโยชน์อะไรในการหาข้อเท็จจริงนั้น มันเป็นเพียงหัวข้อหรือประเด็นที่นำมาคุยในยามว่างเท่านั้นเอง ไม่ได้มีสาระอันใดเลย เพราะในโลกที่เราอยู่มีเรื่องราว แนวคิด ความเชื่อ มากมายมหาศาล หากจะนำมานับเป็นของกายภาพ เห็นทีพื้นที่บนโลกนี้จะไม่พอเพียงต่อการวางสิ่งเหล่านั้น หากเรามานั่งคิดทุกเรื่องว่า เรื่องใดเป็นจริง เรื่องใดเป็นเท็จ เรื่องใดควรจะเชื่อ เรื่องใดไม่ควรเชื่อ เราคงต้องใช้เวลาจนหมดช่วงสุดท้ายของลมหายใจเพื่อหาคำตอบของเรื่องราวทั้งหมดนั่น




เมื่อความเชื่อที่มาจากการไตร่ตรอง หาความเชื่อโยงที่สอดคล้องกัน ที่นำพาไปสู่การกระทำ เนื่องจากเห็นว่าความเชื่อนั้นถูกต้องแล้ว ถ้าหากสิ่งที่เราเชื่อมันผิดหละ ซึ่งความเป็นจริงแล้วเราไม่รู้ว่า ความเชื่อใดถูกหรือผิดอย่างแท้จริงร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่หลักเกณฑ์ใดๆจะมาตัดสินนอกเสียจากการใช้การไตร่ตรอง ครุ่นคิด หาความเชื่อมโยงที่เป็นเหตุเป็นผลกัน เมื่อไม่มีความแน่ชัดใดๆ ฉะนั้น เราต้องคอยตรวจสอบแนวคิด ความเชื่อที่เราเชื่อ เราไม่อาจวางใจต่อ แนวคิดหรือความเชื่อใดๆได้ ถึงแม้จะไม่ผิด แต่มันอาจจะนำพาเราไปยึดติดกับบางสิ่งบางอย่างและทำให้เราเสียโอกาสในการเข้าถึงเรื่องอื่นๆ ที่ดีกว่าได้

เหตุผลของมนุษย์มีมากมายเกินจะหยั่งถึงเพื่อที่จะนำมาใช้ให้ได้สิ่งที่ตนเองปรารถนาหรือเพื่อปฏิเสธ ผลักไสไล่ส่งสิ่งที่ตนเองไม่ชอบ เช่น เหตุผลของคนจะเลิกกัน ลึกๆแล้วมันมีแค่ อันเดียวเท่านั้น คือ ฉันไม่เอาเธออีกแล้ว แต่พออีกฝ่ายถามถึงเหตุผลก็หยิบทุกอย่างขึ้นมาพูด เป็นร้อยเป็นพันยังได้ สิ่งที่อีกฝ่ายหนึ่งควรทำคือ ไม่ควรหาเหตุผลกับเขาอีก เพราะมันมีเพียงเหตุผลที่พูดขึ้นเพื่อให้ได้สิ่งที่ต้องการหรือเพื่อปฏิเสธเท่านั้น


และในบางครั้งเราไม่ลงมือกระทำสิ่งใหม่ๆ หรือสิ่งที่เคยคิดว่าไม่เคยจะทำ ไม่อยากทำ คิดว่าทำไม่ได้ทำออกมาแล้วจะไม่ดีเหมือนคนอื่นๆ หรือด้วยเหตุผลใดก็แล้วแต่ที่จะสนับสนุนให้เราไม่ลงมือกระทำ เราควรทดลองลงมือทำสิ่งที่ขัดแย้งกับเหตุผลต่างๆเหล่านั้น เพราะเราไม่มีทางรู้หรอกว่าผลลัพธ์ที่แท้จริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังของขวากหนามแห่งเหตุผลจะเป็นอย่างไร มันอาจจะเป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่คุณเคยลงมือกระทำมาในช่วงชีวิตของคุณก็เป็นได้

5 ความคิดเห็น:

  1. เหตุผลของแต่ละคนนั้นไม่ทัดเทียมกัน มันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการแต่งแต้มตรรกะ หรือสัจธรรม ด้วยความรู้หรือความไม่รู้ แต่โดยมากมักเป็นความไม่รู้ ดังนั้นหากคุณอยากเข้าใจอย่างแท้จริงให้เปิดใจกว้างๆ รับฟังโดยสงบ เมื่อสงบทีใจ เดี๋ยวมันจะมีปัญญามาใคร่ครวญเหตุผลอย่างตรงไปตรงมา

    ในย่อหน้าสุดท้ายผมค่อนข้างไม่เห็นด้วยนะครับ การไม่กล้าหรือก็คือการกลัวนั้นบางอย่างเป็นเครื่องกีดขวางน่ะใช่ครับ แต่มันเป็นอารมณ์ มันไม่ใช่เหตุผล ส่วนมากเราจะสมอ้างว่าเราไม่ทำเพราะสาเหตุจากอารมณ์กลัวซะมากกว่า โดยมากเราจึงกลัวก่อนแล้วเหตุผลสนับสนุนความกลัวจึงผลุดตามมา แต่ถ้าเป็นสิ่งนี้ทำไม่ได้เพราะเราพิจารณาโดยถี่ถ้วนแล้วว่าทำแล้วจะเกิดโทษ แบบนี้ต่างหากจึงจะเป็นการใช้เหตุผลครับ

    ตอบลบ
  2. ที่ผมตอบไม่ใช่เพื่อจะเอาชนะนะครับ แต่ผมตอบตามความเห็นที่ได้มาจากความรู้ และก็ยังอยากให้คุณแสดงความเห็นโต้ตอบ เพื่อที่จะได้ขยายความเข้าใจของคุณให้ผมได้รับรู้ ซึ่งจากการศึกษามีความเป็นไปได้ว่าผมอาจเข้าใจผิดในสิ่งที่ศึกษา ส่วนเรื่องย่อหน้าสุดท้ายที่คุณไม่เห็นด้วย น่าจะมาจากการเขียนของผมที่ไม่สามารถสร้างความเข้าใจดังที่จะกล่าวต่อไปนี้ ว่าผมมองตามรูปแบบกระบวนการนี้ เลยนำมาสู่การเขียนออกไปในลักษณะที่เห็น

    ผมขอใช้หลักปฏิจจสมุปบาท จากหนังสือบันทึกชั้นศิษย์ ซึ่งหลักการนี้ได้อธิบายกระบวนของการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งเริ่มมาจาก เรามีความรู้ ความเห็นที่ยึดถือตัวตน (อัตตา) พอมีสิ่งที่มากระทบผ่าน สัมผัส จึงเกิดความคิดปรุงแต่ง สุขทุกข์ ชอบ ไม่ชอบ กลายเป็น ตัณหาเกิดขึ้น (ความอยากไม่อยาก) นำไปสู่การเอาจริงเอาจังกับตัณหา หาเหตุผลมาสนับสนุน นำไปสู่การกระทำ และผลของการกระทำเป็นเหตุให้เกิดกลับไปสู่จุดแรกของกระบวนการ กลายเป็นวังวน ที่หมุนอยู่อย่างนี้ไม่จบ

    นั่นนำไปสู่สิ่งที่ผมเขียนเมื่อเราไม่ได้มีความรู้ในสิ่งที่ยังไม่ได้ทำ แต่เราแสดงความคิดเห็นตามความรู้เก่าที่มีผนวกกับการยึดถือตัวตนเป็นปัจจัยทำให้เกิดความทุกข์ (เนื่องจากความไม่รู้กับการยึดถือตัวตน) นำไปสู่การเกิดความไม่อยากที่จะออกไปกระทำในสิ่งที่ตนไม่เคยทำ พอยึดถือในความไม่อยากนี้มากๆเข้าก็เกิดความเอาจริงเอาจังกับความไม่อยาก นำมาซึ่งเหตุต่างๆมาสนับสนุน เช่น มีเพื่อนที่เคยทำสิ่งนั้นแล้วล้มเหลว ไม่เคยมีใครทำสิ่งนั้นสำเร็จ ถ้าไปทำแล้วจะไม่มีเวลาพักผ่อนหรือได้พักผ่อนน้อยลง เป็นต้น
    สุดท้ายนำไปสู่การกระทำ ที่จะไม่ไปทำในสิ่งใหม่ ยังคงทำอยู่แต่สิ่งเดิมๆ

    ส่วนความกลัวจะอยู่หลังจากเกิดความทุกข์ ก็เป็นตัวเดียวกับตัณหาความไม่อยาก นั่นเอง
    และการที่จะทำให้เราทำสิ่งใหม่ๆ นั่นก็คือ ความไม่ยึดติด ในความอยากไม่อยาก ความสุข ความทุกข์
    เพราะกระบวนการรับรู้ของเรา(สัมผัสทั้ง6) จะทำงานตลอดเวลาไม่สามารถปิดได้ แม้เราจะไม่อยากรับ ผนวกกับความรู้และการยึดถือตัวตน จึงเกิดความสุขทุกข์ ดังนั้นก็คือ การไม่ยึดติดและการพัฒนาความรู้ที่ถูกต้อง (เช่น ตัวตนไม่ใช่ของเรา) เราก็จะทำสิ่งใหม่ๆได้

    ตอบลบ
  3. ขอบคุณที่ให้ความคิดเพิ่มเติมครับ

    ผมก็ไม่เคยมองเรื่องแพ้หรือชนะเช่นกันครับ แค่ต้องการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเท่านั้น

    ในส่วนที่คุณกอล์ฟตอบเพิ่มเติมมา ในหลักปฏิจจสมุปบาท นั้นผมพอจะเข้าใจแล้วครับ

    ในส่วนความอยากที่คุณเชื่อมต่อกับความกลัวว่ามันเป็เรื่องเดียวกัน แต่ในความรู้สึกจริงๆ ทั้งสองสองอย่างมันมีส่วนที่ต่างกัน แม้บางครั้งผลลัพธ์ที่ได้อาจจะเหมือนกัน

    ในส่วนของการไม่ยึดติดที่คุณยกตัวอย่างมาว่าตัวตนไม่ใช่ของเรา เราจึงทำสิ่งใหม่ได้ อันนี้ผมยังไม่เข้าใจครับ

    ตอบลบ
  4. ถ้าเรายึดถือตัวตนจะทำให้กระทำสิ่งใหม่ไม่ได้ อย่างเช่น

    เรายึดถือว่านี่เป็นตัวเรา เราเป็นอย่างนี้ มีรศนิยมแบบนี้ มีความสามารถแบบนี้หรือเท่านี้ ไม่สามารถที่จะเปลี่ยนสาขาอาชีพ เปลี่ยนสิ่งที่เคยทำอยู่ไปสู่สิ่งที่ไม่เคยทำ
    เราจะทำในสิ่งที่ตัวเราไม่รู้ได้อย่างไร

    แต่หากคิดแบบนี้เราก็จะทำอยู่ที่เดิมแบบเดิม สาเหตุของการไม่ไปทำสิ่งที่ไม่รู้ เพราะไม่อยากจะพบความล้มเหลว ก็กลับมาเรื่องเดิม เนื่องจากเราไม่อยากพบกับความทุกข์ ทุกข์เกิดมาจากการยึดถือความเป็นตัวตน หากเราไร้ซึ้งความยึดมั่นในตัวตนอย่างแท้จริง เราก็สามารถทำได้ทุกอย่าง เพราะไม่สนใจกับคำว่าล้มเหลวหรือประสบความสำเร็จ นั่นเป็นหลัก คือ การยอมรับความจริงว่า ในที่ๆที่มีสุข คือ ที่ที่มีทุกข์ ในที่ๆมีทุกข์ก็มีสุขอยู่ในนั้น มันเป็นอย่างนี้ เรายึดว่าเป็นตัวเรา เราอยากให้ตัวเราได้แต่ความสุข มึงจึงไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะนำไปสู่สิ่งใหม่ เพราะสิ่งใหม่มีความไม่แน่นอน ถ้าสิ่งที่เราทำคิดว่าแน่นอนแล้วคงที่แล้ว สัจธรรมความจริง คือ ทุกอย่างเปลี่ยนแปลง แม้กระทั่งตัวเรา เราลองนั่งอยู่เฉยในท่าที่คิดว่าสบายที่สุด ไม่ขยับเขยื่อนไปไหน ลองดูว่ามันจะมีเจ็บปวดตามมาไหม คุณต้องพิสูจน์ดูเอง อาจจะเข้าใจได้ลึกซึ้งกว่าการอธิบาย หรือ คุณอาจจะพบทางที่คิดว่าสิ่งที่ผมอธิบาย มันผิดก็ได้

    และการไม่มีความรู้ในสิ่งใหม่นั้นไม่ได้หมายความหมายว่าคุณหาความรู้ของสิ่งใหม่ไม่ได้ซักหน่อย

    ตอบลบ
  5. ต้องขอแก้ไขความเห็นที่กล่าวไป เนื่องจากมีบางส่วนที่ผมเข้าใจผิด ตามลำดับของการเกิดในหลัก ปฏิจสมุปบาท เรื่องที่ผมกล่าวว่า ทุกข์เกิดมาจากความยึดถือตัวตน ตามหลักที่ถูกต้องคือ ทุกข์เกิดจากผัสสะ นั่นก็คือ การรับรู้สิ่้งต่างๆ จากอายตนะทั้งในและนอก เช่น ตา เห็น รูป บวกกับความรู้ในตาและรูป นั่นคือ วิญญาณ อันแปลว่า รู้

    ส่วนความยึดถือยึดมั่น เกิดจากความอยากและไม่อยาก ซึ่งความอยากไม่อยาก ก็เกิดจาก ความชอบไม่ชอบ คือ สุข ทุกข์
    ส่วนถ้าถามว่าทำไมเราถึงยึดถือยึดมั่นในความอยากไม่อยาก เหตุของเรื่องทั้งหมดนั่น เพราะ ความที่เรามีความรู้ที่ผิด ว่าตัวเราเป็นของเรา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง ของความสุขหรือทุกข์ เมื่อความอยากไม่อยากเกิดขึ้น คิดว่าเป็นของเรา ก็ยึดถือในความอยากไม่อยากนั้น

    ลองไล่ดูตามหลักปฏิจสมุปบาท
    สามารถดาวล์โหลดเพื่อทำความเข้าใจให้มากขึ้นกว่าการอธิบายของผม
    http://www.watnapp.com/files

    และต้องขออภัยด้วยนะครับที่ไล่เรียงลำดับการเกิดผิดผลาด

    ตอบลบ