วันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2556

อีกทางเลือกหนึ่งของความสำเร็จ (ตอนที่ 2 )


            เราลองมาดูตัวอย่างเกี่ยวกับเรื่อง “ความรัก” กันบ้าง หากเราต้องการให้ชีวิตคู่ของเราประสบสุขพร้อมกันทั้งสองฝ่าย เราก็จำเป็นต้องใช้เวลา  “สั่งสมการใช้ชีวิตร่วมกัน” ให้มากขึ้นจนถึงจุดที่เข้าใจกันและความขัดแย้งต่างๆจะน้อยลง จะเห็นได้ว่าคู่รักที่มีอายุแล้วจะไม่ค่อยมีปัญหาขัดแย้งกันมากนักมีแค่เล็กๆน้อยๆ ไม่นานจะจบลง มองไปทีไรจะเห็นแต่ว่าคู่ตายายคู่นี้มีแต่ความสุข แต่ถ้าหากลองเปรียบเทียบกับคู่หนุ่มสาวส่วนใหญ่จะพบว่ามีปัญหาขัดแย้งกันมาก ถึงขนาดทำร้ายร่างกายกลายเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ นั่นเพราะยังใช้เวลาอยู่ด้วยกันน้อย พื้นฐานของแต่ละคนมาจากคนละที่ นำมาซึ่งความเป็นตัวตนที่ไม่เหมือนกัน และยิ่งต่างคนต่างมีการงานที่ดี ซึ่งหมายถึงต้องรับผิดชอบงานมากกว่าคนปกติ ทำให้ต้องใช้เวลากับงานมากกว่าชีวิตคู่ เจอกันแค่ก่อนนอน หรือถ้าหากไม่ได้อยู่ด้วยกันแล้ว แทบจะไม่ได้คุยกันหรือแม้แต่ส่งข้อความหากัน  ทำให้เกิดความไม่ราบรื่นต่อการใช้ชีวิตได้

            แน่นอนว่าหากพูดถึงความสำเร็จ ส่วนใหญ่จะนึกความสำเร็จในด้านของหน้าที่การงาน ธุรกิจหรือการหาเงิน การนำหลักแนวคิดเรื่องการสะสมมาใช้จะเป็นการมองว่า การทำงานหรือการหาเงินให้ประสบความสำเร็จเกิดจาการสะสมปัจจัย 3 อย่าง  คือ  เวลา ประสบการณ์ และ การเรียนรู้ ความสำเร็จของแต่ละสิ่งจะมีจุดอิ่มตัวจากการเติบเต็มของปัจจัยทั้ง 3 เช่น ถ้าหากเราให้คะแนนความสำเร็จการทำงานเป็น 100 เราอาจประสบความสำเร็จด้วยทางต่างๆ ดังนี้

1.เราเป็นผู้สามารถเรียนรู้เร็ว เรียนรู้จากการศึกษาได้มากเป็น 70 บวกประสบการณ์การทำงานไป 30 จึงจะสำเร็จในงานนั้น
2.เราสามารถเรียนรู้ได้ปานกลาง 50 บวกประสบการณ์การทำงานไป 50 จึงสำเร็จในงานนั้น
3.เรียนรู้ได้น้อย 20 บวกประสบการณ์ 80 จึงสำเร็จงานนั้นเช่นกัน

ตัวเลขที่หนักไปทางทิศทางใดเราจะใช้เวลากับสิ่งนั้นเยอะเช่นในกรณีแรก เราจะใช้เวลาในห้องเรียนหรือในมหาวิทยาลัยมากกว่าการทำงานจริง อาจได้เรียนไปถึง ป.โท หรือ ป.เอก เมื่อออกมาทำงานได้ไม่นานก็ประสบความสำเร็จ

ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงตัวเลขสมมุติเพื่อให้เราได้เห็นภาพเท่านั้น ตัวอย่างเหตุการณ์ทั้ง 3 ที่กล่าวไป คุณอาจจะไม่ได้อยู่ในรูปแบบของตัวเลขเหล่านี้ก็ได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับปัจจัยความสามรถของแต่ละบุคคล




แต่ในชีวิตจริงเราไม่สามารถจำแนกในลักษณะนี้ออกมาเป็นตัวเลขหรือปริมาณที่วัดได้แน่นอนว่า การจะประสบความสำเร็จของเราแต่ละคนจะใช้ปัจจัยแต่ละอย่างไรเท่าไหร่เราไม่มีทางรู้ ว่าคะแนนเต็มของความสำเร็จของแต่ละเรื่องอยู่ที่เท่าไหร่ และจะต้องเรียนรู้อีกแค่ไหน เราได้ลงมือปฏิบัติไปปริมาณเท่าไหร่ หรือหากเราลงมือกระทำไปแล้วเหลืออีกเท่าไหร่จึงจะได้ความสำเร็จมาครอง จึงได้ข้อสรุปของสิ่งที่ต้องทำ นั่นก็คือ เรายังต้องสะสมประสบการณ์ การเรียนรู้ คิดและทำอยู่ตลอด ตราบที่เรายังหายใจโดยไม่ปล่อยให้เวลามาใช้เป็นตัวตัดสินว่าเราจะทำสำเร็จไหม แม้เราใช้เวลาไม่เท่ากับผู้อื่น ในบางครั้งสิ่งที่เราทำอาจใช้เวลาเพียงไม่นานก็ได้สิ่งที่หวัง และในบางครั้งเราอาจใช้เวลานานกว่ากว่าคนอื่นๆ

สิ่งสำคัญ คือ อย่าให้จุดหมายของความสำเร็จมาเร่งเร้าให้เราอยากได้มาอย่างรวดเร็ว จนทำให้เราหาวิธีลัด ทางลัดที่ไม่สมควร หรือทำให้เราต้องเลิกการเดินทางนั้น เพราะคิดว่าตนเองได้ลงมือกระทำมานานแล้วยังไม่ถึงเป้าหมายซักที เราคงไม่มีความสำเร็จในสิ่งที่ทำเป็นแน่ อย่างที่บอกไม่มีใครรู้จุดสิ้นสุดของความสำเร็จของแต่ละเรื่อง และไม่มีทางที่คุณจะรู้ว่าต้องสะสมในเรื่องที่ทำมากเท่าไหร่จึงจะนำไปสู่ความสุขที่คุณตั้งเป้าหมายไว้ หากเราอยากได้อะไรก็ทำเรื่องนั้นๆ ซ้ำทุกวัน ด้วยความมุ่งมั่น ความพยายาม ความมีวินัย และความอดทน คำว่าอดทนนี้หมายความว่า “อดในสิ่งที่ชอบ ทนในสิ่งที่ชัง” ถ้าคุณไม่มีสิ่งที่ชอบและสิ่งที่ชังแล้ว คุณจะไม่ต้องใช้ความอดทนอีกต่อไป

แนวคิดที่กล่าวมาน่าจะทำให้คุณมุ่งไปสู่เป้าหมายที่เป็นจุดสูงสุดที่วางไว้ได้ ลองนำไปประยุกต์ใช้ดูแล้วกันนะครับ

ทิ้งท้ายกันซักหน่อย

อยากเป็นจิตรกร แต่เพิ่งเริ่มวาดได้แค่เส้นตรง แล้วอยากจะสำเร็จ

อยากเป็นนักดนตรีที่โด่งดัง แต่เพิ่งเริ่มตั้งสายกีตาร์ แล้วอยากจะสำเร็จ

อยากมีฐานะดี แต่เพิ่งเริ่มลงทุน แล้วอยากจะสำเร็จ

อยากจะมีคู่ที่ดี แต่เพิ่งได้เบอร์โทร แล้วอยากจะสำเร็จ

อยากเรียนเก่ง แต่ไม่ทบทวนไม่เรียนรู้เพิ่ม แล้วอยากจะสำเร็จ

อยากมีการงานดี แต่ไม่รับผิดชอบเพิ่ม แล้วอยากจะสำเร็จ

อยากมีชีวิตที่ดี แต่ทำเพียงนิดเดียว แล้วอยากจะสำเร็จ

อยากเป็นที่รักใคร่ แต่ไม่เคยรักใคร แล้วอยากจะสำเร็จ

อยากมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล แต่ไม่รับมุมมองใหม่ แล้วอยากจะสำเร็จ

อยากมีเงินก้อนโต แต่ไม่ประหยัดตั้งแต่วันนี้ แล้วอยากจะสำเร็จ

อยากเป็นโน่น อยากเป็นนี่ แต่เพิ่งจะเริ่มทำเท่านั้น แล้วอยากจะสำเร็จ. ....................

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น