วันพุธที่ 5 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คุณค่าที่น่านับถือ


            ถ้าเรามาลองทำความเข้าใจให้มากขึ้นกับที่มา ความหมาย สถานการณ์ที่เราต้องใช้ ของคำคำนี้ น่าจะทำให้เราเข้าใจโลกได้มากขึ้น เข้าใจตัวเราเองได้มากขึ้น เข้าใจการกระทำของผู้คนในสังคมมากขึ้น

            ความหมายของคำว่าคุณค่าคืออะไร คือ การให้ความสำคัญกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ไม่ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรม เมื่อสิ่งนั้นมีความสำคัญมากขึ้น เราอาจต้องทำอะไรบางอย่างหรือหลายอย่างให้กับสิ่งที่คิดว่ามีคุณค่า  แล้วใครเป็นผู้ให้น้ำหนักของระดับคุณค่าแต่ละสิ่งหละ หรือว่ามีเกณฑ์ตัดสินใดที่บ่งบอกว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งมีคุณค่า ต่อสังคม ต่อเพื่อน คนรัก คนรอบข้าง ต่อตัวเรา

            ถ้าเราคิดว่าผู้ให้คุณค่าต่อเรื่องหนึ่งมาจากคนในสังคม คนรอบตัวที่รู้จักหรือไม่รู้จัก เราคล้อยตามเห็นดีเห็นงามกับสิ่งที่คนอื่นบอกว่ามันมีคุณค่า มันมีความสำคัญ เราจะต้องทำ ต้องคิดตามไปโดยที่เราไม่รู้ตัว ถ้ามองให้ดีเราอาจจะเห็นได้ว่าเรากำลังถูกผูกเชือกลากให้เดิน ให้ทำ ให้คิด ให้มีสภาพเหมือนกับคนเหล่านั้น ด้วยค่านิยม วัฒนธรรม การยอมรับ กฎเกณฑ์ที่เราไม่ได้เป็นคนตั้งขึ้น ด้วยการแลกเปลี่ยนที่แสนจะซับซ้อนวุ่นวาย ด้วยการค้าที่จะต้องมีการจัดอันดับ ด้วยการแข่งขันที่อยู่ทั่วทุกซอกทุกมุมของสังคม เพื่อที่จะแตกต่าง เพื่อให้โดดเด่น เพื่อเป็นในสิ่งที่เราเองไม่เคยกำหนดแม้กระทั่งสิ่งที่มีให้เป็นหรือทางเลือกที่มีให้เรา  เหมือนกับว่าชีวิตนี้เป็นของเรา เรามีทางให้เลือก มีทางให้คิดเอง เป็นตัวของตัวเอง จริงหรือเปล่าด้วยคำถามนี้ แม้กระทั่งอาชีพที่ให้เราเลือกยังถูกกำหนดมาจากใครก็ไม่รู้ มันไม่ใช่กฎแต่มันเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องทำเมื่อเริ่มรู้จักโลก และยิ่งต้องทำมากขึ้นเมื่อเริ่มเติบโต เมื่ออยู่บนโลกนี้นานยิ่งขึ้น 

          ถ้าคำตอบของคำถามนี้ คือ เราไม่อยากเป็นอะไรที่พวกเขาเหล่านั้นมีให้เลือก จะได้ไหม เราจะเป็นมนุษย์ที่เลือกเองด้วยตัวเองอย่างแท้จริงได้ไหม เราเคยตั้งคำถามไหม ว่าทำไมต้องแข่งขัน ต้องชนะหรือแพ้ ต้องเก่งหรือฉลาด ต้องโดดเด่นหรือแตกต่าง ต้องมีความสำคัญ “ต้องมีคุณค่าในสังคม” กลับมาที่เรื่องเดิม “คุณค่า” นั่นเพราะเราได้ให้คุณค่ากับเรื่องพวกนี้ทั้งที่เราไม่เคยได้เลือกเองจริงๆ เราอยากและไม่อยากตามกฎเกณฑ์ ค่านิยม สิ่งที่สังคมวางไว้ให้ รูปแบบชีวิตจะต้องเป็นแบบใดแบบหนึ่งในแบบที่พวกเขารู้จักคุ้นชินกับมัน




              ที่กล่าวมาข้างต้นถ้ามองเป็นภาพใหญ่ซึ่งเป็นเรื่องภายนอกที่เราให้คุณค่า ถ้าเรามองเห็นคุณค่า แล้วเลือกทำอย่างใดอย่างหนึ่งจากตัวเลือกที่มีให้เลือก สิ่งหนึ่งที่จะเกิดขึ้นกับตัวเราคือเรื่อง กิเลศอันเป็นพื้นฐานที่เราทุกคนมีติดตัวมากับมนุษย์ หากเรามองด้วยมุมมองของคำว่าคุณค่าที่เราคุยกันอยู่นี้ มันสามารถที่จะพออธิบายเบื้องต้นเกี่ยวกับกิเลศได้ แต่ไม่ใช้ทิศทางในการกำจัดมันออกไป วิธีการกำจัด กิเลศออกไปเราทุกคนรู้ดีอยู่แล้วว่าจะต้องไปพบใคร และปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้การกำจัดสิ่งเหล่านั้นอย่างถอนรากถอนโคน


            มาต่อกันที่เรื่องกิเลศกับคุณค่า เราโกรธเพราะอะไร เพราะเราอาจมีความรู้สึกลึกๆ ถึงแม้จะยังไม่เคยมองในมุมนี้ก็ตามหรือบางคนอาจจะรู้สึกทุกครั้งที่โกรธ นั่นคือ เมื่อเราให้คุณค่าแก่ตัวเรา ถ้าคิดว่าเราถูกลดคุณค่าลงจากบุคคลอื่น ทำให้เราเป็นผู้แพ้ ทำให้เรายอมจำนน  เราถือว่าตัวเรามีความสำคัญยิ่งกว่าใคร การถูกทำให้เรารู้สึกว่าคุณค่าในตัวเราลดลงจึงนำมาสู่ความโกรธ

            เช่นเดียวกับอีกสองอย่างที่เหลือสามารถอธิบายด้วยเรื่องคุณค่าได้เหมือนกัน คือ ความหลง ไม่ว่าจะหลงอะไร เพลิดเพลินกับสิ่งใด  เราคิดว่าตัวเรามีคุณค่ามากขึ้น มากขึ้น สิ่งที่เสพสรร เข้าสู่ร่างกายมีคุณค่า สิ่งที่กระทบเข้ากับสัมผัสมีคุณค่า สิ่งที่กระทบตัวตนเนื่องว่าหลายสิ่งหลายอย่างเป็นของเรานั้นมีคุณค่า ล้วนทำให้เราให้หลงทั้งสิ้น

            และอย่างสุดท้าย ความโลภ เราโลภเพราะต้องการที่จะเพิ่มคุณค่าของสิ่งที่ทำอยู่ สิ่งที่คิดอยู่ ในขณะที่เพดานของการเพิ่มคุณค่ามันไม่เคยมี ทำเท่าไหร่ ก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้น ทำให้โลภอย่างไม่มีที่สิ้นสุด

ลองมองอีกทีจริงๆ แล้ว เราเองที่เป็นคนสร้างตะขอของเชือกให้ถูกดึงไปรวมกันโดยผู้อื่น เราเป็นผู้เกี่ยวตะขอเหล่านั้นเองและยอมให้ผู้อื่นดึงเราไปโดยไม่เคยได้ฉุดคิด เป็นเราเองที่เลือกให้สิ่งใดมีคุณค่าหรือไม่มีคุณค่า ไม่มีเกณฑ์ใดหรือคำบอกกล่าวของบุคคลใดที่จะสามารถเจาะจงได้ว่าอะไรมีคุณค่าที่แท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น