วันจันทร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2556

มุมหนึ่งที่ต้องเจอ (ตอนที่ 2)


แล้วการรอคอยคืออะไรหละ การรอคอย คือ สถานการณ์ที่เราเป็นผู้รอรับกับเหตุการณ์บางอย่างให้มากระทำต่อเรา และเมื่อเหตุการณ์นั้นมาถึงการรอคอยก็จะสิ้นสุดลง ก่อนการรอคอยจะเริ่มขึ้นมีจุดเริ่มมาจาก ความปรารถนาจะได้บางอย่างด้วยสภาพแวดล้อมที่ยังมาไม่ถึงหรือสถานการณ์จำเป็นที่ไม่อาจหลีกหนีได้กลายมาเป็นจุดหมายที่เราต้องทำ เช่น อยากจะเห็นพระอาทิตย์ตกดินที่ทะเล กับ เจ้านายสั่งให้ไปพบเจอลูกค้า เป็นต้น ทำให้ต้องตัดสินใจในทางเลือกของเราว่าจะรอคอยหรือไม่ ในกรณีที่เรามีโอกาสในการตัดสินใจเลือก สามารถควบคุมการตัดสินใจได้ เราควรพิจารณาผลลัพธ์ของการรอคอยให้ถี่ถ้วน และใช้ความเด็ดขาดและมุมมองในระยะยาวอยู่ร่วมเข้าไปในการตัดสินใจ รวมไปถึงการยอมรับต่อผลการตัดสินใจของตนเอง แต่ถ้าอยู่ในกรณีที่เราไม่ได้มีโอกาสในการตัดสินใจอยู่ในสถานะที่ต้องทำ ก็ควรจะปล่อยความเป็นมาที่นำเราไปสู่ความเป็นไปข้างหน้า ให้มันเป็นไปอย่างที่มันเป็น

กล่าวง่ายๆ คือ เราจะอยู่ในสถานะเป็นผู้กำหนดการรอคอยขึ้นหรืออยู่ในสถานะที่ไม่ได้เป็นผู้กำหนดการรอคอยขึ้นก็ได้ เช่น เรารอเพื่อนที่กำลังเดินทางมาหาเนื่องจากเพื่อนเป็นคนนัดให้เราไปรอ หรือในสถานการณ์กลับกันเรารออยู่แต่เราเป็นคนเริ่มนัดว่าจะไปรอ ณ ที่ตรงนั้น เป็นต้น สถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นนำมาสู่การรอคอย เราต้องเจอกับการรอคอยอยู่ตลอดเวลาในช่วงชีวิตของเรา แต่อาจแตกต่างกันไปตาม สภาพแวดล้อม จุดหมาย สิ่งขัดขวางให้การรอคอยล้มเหลวและระยะเวลาในการรอคอย 

การรอคอยมีเรื่องของเวลาและสภาพแวดล้อมมาเป็นปัจจัยให้ถึงจุดสิ้นสุดหรือเป็นปัจจัยให้การรอคอยไปไม่ถึงเป้าหมาย และยังนำมาใช้กำหนดขอบเขตของการรอคอยอีกด้วย เช่น เรากำหนดว่าจะรอเพื่อน 1 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะกลับบ้านหรือถ้าในระหว่างหนึ่งชั่วโมงที่รออยู่นี้ แม่โทรมาให้กลับไปช่วยธุรกิจที่บ้านก็จะกลับทันที เป็นต้น ในบางครั้งขอบเขตของเวลาการรอคอยอาจยาวนาน เช่น ในการรอคอยเพื่อให้ ความคิด แนวทางหรือสิ่งของทางกายภาพต่างๆ ที่เราสร้างสรรค์ให้กับโลกได้รับการตอบรับซึ่งจะมาจากความลงตัวของสภาพล้อมที่สอดรับกับเรื่องที่เราทำ เช่น แนวคิดปรัชญาในสมัยก่อน ผู้ที่เป็นนักคิด(อริสโตเติลเป็นต้น) ที่คิดแนวทาง ปรัชญาของมนุษย์ขึ้นมาแต่ไม่ได้ถูกตอบรับจากคนยุคนั้น เมื่อเวลาผ่านไปกลับกลายมามีบทบาทในสมัยนี้ เป็นพื้นฐานของสาขาวิชา ถึงแม้แนวคิดที่เป็นตัวจุดเริ่มต้นจะถูกหักล้างด้วยแนวคิดใหม่แต่แนวคิดนั้นก็ยังไม่ได้ตายจากโลกนี้ไป และด้วยแนวคิดของเขาที่เป็นพื้นฐานทำให้เกิด แนวคิดใหม่ๆที่แตกต่างออกมาให้เราได้ศึกษา จากตัวอย่างแสดงให้เห็นว่าความสำเร็จของการรอคอยต้องมีสภาพแวดล้อมที่สอดรับซึ่งต้องใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะเห็นผล




            เมื่อการรอคอยได้เริ่มต้นขึ้น แน่นอนว่าถ้าหากเรายังไม่เข้าใจสัจธรรมของการรอคอย จะทำให้เกิดสิ่งต่างๆ อย่างที่กล่าวไปข้างต้น อันมาจากแนวคิดที่มีมุมองเพียงมุมเดียว คือ เราจะมองไปที่ผลลัพธ์ของการรอคอยและคาดหวังว่าจะต้องสมหวังกับผลลัพธ์นี้เท่านั้น ทำให้เกิดอาการต่างๆ รวมไปถึงความรู้สึกที่อยู่ภายใน เช่น ความกังวล เป็นต้น  ถ้าเราทำความเข้าใจถึงสถานการณ์ของความเป็นจริงในการรอคอยอย่างการมองไปที่ผลลัพธ์ ว่าผลลัพธ์ที่เป็นไปได้มีอยู่ 2 ทาง คือ ทางที่สมหวังนำมาสู่ความสำเร็จ ความสะใจ ความภาคภูมิใจ กับทางที่ผิดหวังดึงเราไปสู่ความท้อถอย ความเหน็ดเหนื่อย ความเบื่อหน่าย เราต้องรับความเป็นจริงข้อนี้ แน่นอนว่าทุกคนชอบความสมหวังมากกว่าความผิดหวัง   แต่ด้านความผิดหวังนี้ได้สร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่ดี สร้างความเข้าใจในความจริงที่ไม่เปลี่ยนแปลงและสิ่งที่เราไม่มีทางรู้คือ เราไม่สามารถรู้อนาคต ไม่รู้หรอกว่าเมื่อไปถึงจุดสิ้นสุดของการรอคอยแล้ว จะเกิดผลดีหรือร้ายอันใด  เมื่อเป็นเช่นนั้นเราควรหรือไม่ที่จะเป็นผู้ผิดหวังที่ไม่ยอมรับความจริงแล้วทำบางอย่างออกไป 

           ซึ่งผู้ผิดหวังจากการรอคอยจะทำให้ตัวเองไม่ตกอยู่ในสภาวะนั้น ทำทุกอย่างเพื่อลดความเสี่ยงไม่ให้เกิดขึ้น เช่น คนที่เกลียดการรอคอย ผิดหวังจากการรอคอย หากนัดพบเจอกับเพื่อนจะนัดให้เพื่อนออกมาก่อนเวลาเพื่อมารอตนเอง คือ ให้เพื่อนถึงก่อน พอตนเองไปถึงก็ไม่ต้องรอ หรือ โกหกว่าตนเองถึงแล้วขณะเดินทางยังไม่ถึงเพื่อให้อีกฝ่ายเร่งรีบมารอตนเองให้ได้ เป็นต้น เห็นได้ว่าการไม่ยอมรับความจริงนำไปสู่หนทางของความเลวร้ายได้


ในขณะที่เรากำลังดำเนินอยู่กับการรอคอยไม่ว่าจะมีอุปสรรค มีสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงใดๆ ทำให้สามารถก้าวข้ามอุปสรรคนั้นแล้วยังคงอยู่ในเป้าหมายเดิม หรือ ต้องตัดสินใจใหม่อีกครั้งว่ายังคงจะรอคอยต่อไปหรือไม่  เราอาจเกิดคำถามว่าเราจะอยู่ในทิศทางใดเพื่อให้ได้สิ่งที่ปรารถนาเราจะเลือกไปให้ถึงเร็วที่สุดหรือไปอย่างช้าๆ แต่มีสองสิ่งที่เป็นความจริงและอยู่คู่กับเรื่องการรอคอยเพื่อใช้ในการตัดสินใจลงมือกระทำ คือ การสร้างสรรค์ใช้เวลานานกว่าการทำลายล้าง และการทำชั่วสามารถกระทำได้ง่ายกว่าการทำความดี”  เช่น การเลี้ยงมนุษย์คนหนึ่งให้เติบโตขึ้นมานั้นแสนยากลำบาก กว่ามนุษย์คนหนึ่งจะเข้าใจโลก มีความรู้ ความคิด สามารถดูแลตัวเองและตั้งอยู่ในความดี มีความเสียสละ ให้ความช่วยเหลือผู้อื่นได้ แต่การฆ่าไม่ว่าจะด้วยอาวุธหรือเทคนิคต่างๆ นั้นกลับง่ายดาย แค่เสี้ยววินาทีเดียวที่กระพริบตา ชีวิตก็ดับหายมลายไปจากโลกนี้ไป เราจะเลือกอยู่ในทิศทางของการรอคอยในแบบการสร้างสรรค์และการทำความดีถึงแม้จะใช้เวลาที่ยาวนานกว่าแต่เรายังมีสติของผู้ที่เป็นมนุษย์ หรือ เลือกทำตามทิศทางที่ง่ายกว่า ใช้เวลาน้อยกว่าแต่เหมือนสิ่งมีชีวิตที่มีจิตวิญญาณวิ่งตามตัณหาอย่างไม่มีสิ้นสุด...........

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น