ตอน ภาพใหญ่ของเป้าหมาย
เมื่อเราจะลงมือกระทำสิ่งใดบนโลกนี้
สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นในหัวของเรา คือ
เราจะมีจุดหมายที่ต้องการให้บางสิ่งบางอย่างเกิดขึ้นตามความต้องการที่ต่อเนื่องจากความรู้สึก
นำมาสู่การคิดวางแผนและความคิดสนับสนุนต่างๆ จนกระทั่งผลักดันให้ทำสิ่งนั้นขึ้น
จุดหมายที่เกิดขึ้นบางครั้งต้องใช้เวลายาวในการกระทำกว่าจะสำเร็จได้
บางจุดหมายอาจใช้เวลาเพียงไม่นานก็บรรลุถึงสิ่งที่ตั้งหวัง
จุดเริ่มต้นของเป้าหมายมาจากอะไร
มีองค์ประกอบใดจึงเกิดเป้าหมายขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากความรู้ของเรา ถ้าเรามีความรู้ในเรื่องใด
เราก็สามารถที่จะวางเป้าหมายในเรื่องนั้น ตั้งแต่ความรู้ที่สลับซับซ้อนในแต่ละสาขาวิชาชีพ
ไปจนถึงความรู้พื้นฐานอย่างเช่น การกินดื่ม เมื่อเรารู้สึกถึงความหิวกระหาย เราจึงต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อให้หายจากอาการนั้น
เริ่มแรกเราอาจแค่หาสิ่งมีชีวิตมาใส่ปาก
ต่อมาเมื่อเรามีความรู้มากขึ้นเราเริ่มใช้ความร้อนในการทำอาหาร รวมไปถึงเริ่มปรุงรสชาติ
ตกแต่งหน้าตาอาหาร กลายมาเป็นรูปแบบของอาหารที่แตกต่างกันไป
นั่นก็มาจากความรู้เช่นเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งของเป้าหมายมาจากความต้องการของแต่ละคนบุคคล
องค์ประกอบของเป้าหมายที่สำคัญอย่างหนึ่ง
คือ อุปสรรค ซึ่งจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในการก้าวไปสู่เป้าหมาย
อุปสรรคขัดขวางที่เจ็บปวดที่สุดจะนำพาการจดจำอันลึกซึ้ง จะนำมาซึ่ง ความพยายาม
ความมุ่งมั่น ความมีวินัย ความอดทน ความกล้าที่จะทำในสิ่งใหม่ หากเราก้าวเข้าสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้อย่างง่ายดาย
ความรู้สึกถึงความภาคภูมิใจจากความสำเร็จจะเป็นส่วนที่เราไม่ได้จดจำมันมากมายนัก อาจไม่รู้สึกถึงความสำเร็จใดๆ
แม้จะเราเลยจุดที่จะมานั่งวางเป้าหมายและความสำคัญของการกินไปแล้ว แต่จริงๆเรายังทำอยู่โดยไม่รู้ตัว เรียกได้ว่าเป็นเป้าหมายขนาดเล็ก
เรามุ่งให้ความสำคัญกับเป้าหมายที่มีคุณค่าที่จะกลายเป็นแรงผลักดันให้เราลงมือกระทำ
เป้าหมายที่ดูมีคุณค่า ยิ่งใหญ่ เกิดขึ้นมาจากการรวมตัวกันของเป้าหมายขนาดเล็กหรือเป้าหมายที่ดูไม่น่าให้ความสำคัญจะรวมกันกลายเป็นกลุ่มก้อนของเป้าหมาย
“ในเป้าหมายมีเป้าหมายทับซ้อนอยู่”
ซึ่งถ้าเราลองแยกความทับซ้อนนั้นออกเราจะเห็นอะไรในเป้าหมายหนึ่งๆบ้าง
ถ้าเช่นนั้นเราลองมาแยกเป้าหมายจากตัวอย่างต่อไปนี้กัน เป้าหมายของความสำเร็จในด้านของการทำงาน
เริ่มจากเป้าหมายของการทำงานเพื่อทรัพย์สมบัติหรือตามความต้องการของตน นำไปสู่เป้าหมายของการเลือกงานหรือเป้าหมายของอาชีพ
เป้าหมายอาชีพนำไปสู่การเลือกเป็นพนักงานบริษัทหรือการเป็นเจ้าของกิจการ
กลายเป็นต้องมีเป้าหมายของการศึกษาที่ส่งเสริมเป้าหมายอาชีพ สมมุติว่าถ้าหากเราเลือกเป็นลูกจ้างเมื่อเข้าไปอยู่ในบริษัทก็จะพบกับเป้าหมายสูงสุดของบริษัทและนำมาสู่การวางเป้าหมายในแต่ละจุดของงาน
เป้าหมายของแต่ละจุดของงานนำมาสู่เป้าหมายของทีม
เป้าหมายของทีมนำมาสู่เป้าหมายของแต่ละคน
เป้าหมายของแต่ละคนเชื่อมต่อไปยังเป้าหมายต่างๆ อีกมากมาย ซึ่ง “ในเป้าหมายที่มีเป้าหมายทับซ้อน” อยู่นั้น
จะมีทั้งเป้าหมายที่มีรูปแบบของการแตกแขนงเป็นแนวนอน และแนวตั้ง บ้างแตกแขนงอย่างไร้ทิศทาง
ถ้าเราพลาดเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งที่มีส่วนในเป้าหมายที่เราให้ความสำคัญไป
เราก็จะผิดพลาดล้มเหลวไปไม่ถึงเป้าหมายนั้น
ดังนั้นการวางเป้าหมายที่เป็นภาพใหญ่หรือเป้าที่ยิ่งใหญ่ที่เราเห็นว่ามีคุณค่าแก่การกระทำ
ในแต่ละส่วนของเป้าหมายควรมีความสอดคล้องส่งเสริมกัน หากเป้าหมายใหญ่อยู่ในทิศเหนือ
ถ้าเราทำเป้าหมายย่อยไปในทิศใต้ เห็นทีการเดินทางไปถึงเป้าหมายคงจะเป็นไปได้ยาก
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น