วันจันทร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2556

คุณเคยตั้งคำถามกับเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผลบ้างมั๊ย


            หากคุณเป็นชาวพุทธแบบไทย เรียนรู้และเติบโตมาพร้อมกับศาสนาพุทธ อาศัยอยู่ในประเทศไทยมาตั้งแต่เกิด จนสามารถรับรู้ซึมซับความเป็นชาวพุทธแบบไทย จนพอจะเหมารวมว่าความเป็นพุทธคืออะไร พอที่จะทำตามกระแสชาวพุทธ พอที่จะทำตามความเชื่อที่สืบต่อกันมา ทำตามสิ่งที่ครอบครัว สังคมรอบข้างบอกให้ทำสิ่งที่เหมือนคล้ายกันเพราะความเชื่อในแบบเดียวกัน เข้าใจและปฏิบัติในรูปแบบเดียวกันเมื่อไปทุกๆ สถานที่สำคัญของศาสนา ไม่กล้าที่จะขัดแย้งกับความเป็นไปของสังคมชาวพุทธ ไม่กล้าที่จะสงสัย ไม่กล้าตั้งคำถาม ปล่อยให้ความเป็นเหตุเป็นผลที่ไม่สอดคล้องกันเป็นพื้นฐานของการกระทำ  กระทำสิ่งที่เป็นภาพโดยไม่ได้เข้าใจเนื้อในแห่งความเป็นจริงของแต่ละพิธีกรรม แต่ละประเพณีวันสำคัญ   แต่ละรูปแบบของแนวคิด

เพื่อที่จะทำในสิ่งที่สมเหตุสมผล เพื่อที่จะขจัดความสงสัยในธรรมะที่รับรู้ผ่านคำสอนของพระสงฆ์ ที่เรียนรู้ผ่านตำราธรรมมะ ผ่านพระไตรปิฎก จากความเชื่อและพิธีกรรมต่างๆ เพื่อนำมาสู่การพิจารณาและเข้าใจผ่านระบบความคิด ผ่านการรับรู้ของสัมผัสทั้งหมดของตัวเอง กลายมาเป็นพื้นฐานแห่งความคิดที่ถูกต้อง ซึ่งมาจากการพิจารณาอย่างถี่ถ้วน  เพื่อที่จะทำให้เราปฏิบัติอย่างผู้เข้าใจแก่แท้และไม่มีข้อสงสัยใดๆ อีกต่อไป ถ้าเช่นนั้นลองมาทำความเข้าใจกับเรื่องนี้ดูซักที




คุณเคยตั้งถามคำถามกับพิธีกรรมของศาสนาพุทธบ้างหรือเปล่า ว่าเวลาไปวัดทำไมต้องปิดทองกับพระพุทธรูป ทำไมต้องจุดธูปเทียน ทำไมต้องนำดอกไม้ไปไหว้ ซึ่งหลายๆวัดจะมีดอกไม้ธูปเทียนวางไว้ให้ แล้วพอมีคนไหว้เสร็จ จึงเอากลับจากแท่นมาวางไว้ให้คนมาใหม่หยิบวนกลับไปไหว้ต่อ เช่นเดียวกับการทำพิธีกรรมที่ทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ ไม่ว่าจะเป็น การใส่บาตรด้วยเหรียญประจำวันเกิด การทำสังฆทาน การใส่น้ำมันตะเกียง ฯลฯ ถ้าเรามองแบบผิวเผิน  มองในรูปแบบของธุรกิจ กลายเป็นเพียงวิธีการหนึ่งที่จะทำให้คนนำเงินทองทรัพย์ของตนบริจาคให้กับวัด แต่ผู้คนก็ยังทำโดยมีความเชื่อในเรื่องบุญ การสร้างบุญ การให้ทาน ซึ่งบ้างมีความหวังว่าการทำบุญสละทรัพย์ของตนจะนำมาสู่ความมั่งคั่งในชาติภพปัจจุบันและชาติหน้า

แต่ถ้าเรามองให้ลึกลงกว่าเดิมในแต่ละพิธีกรรม ในแต่ละขั้นตอน ว่าเนื้อในของพิธีกรรมที่จัดให้ผู้คนเข้าไปกระทำนั้น จะให้ประโยชน์ที่แท้จริงอย่างไร แต่ละการกระทำให้แนวคิดอะไรกับเราบ้าง เช่น การปิดทองกับพระพุทธรูป หากเราตัดเรื่องแผ่นทองเป็นสิ่งมงคลออกไป ตัดเรื่องความเชื่อในแบบที่ไม่มีเหตุผลว่าจะให้บุญใดๆ เราจะเห็นอะไร เราจะพบว่ามีพระพุทธรูปที่เต็มไปด้วยแผ่นทองเหลืองอร่าม ซึ่งไม่ได้มาจากแผ่นทองแผ่นใหญ่เพียงแผ่นเดียวแต่มาจากแผ่นเล็กๆ รวมกันจากการปิดทองของผู้คนมากมายที่มาวัด แนวคิดที่พอจะมองเห็นและสามารถทำให้เรานำไปใช้ประโยชน์ได้ คือ การจะทำอะไรก็แล้วแต่จะต้องใช้ความอดทน ความมีวินัยทำอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จ หน้าที่การงาน การสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ และ สิ่งเหล่านั้น มาจากการร่วมมือกันสร้างสรรค์จึงจะได้ผลสำเร็จที่ออกมาดี ให้เป็นดั่งมนุษย์ที่อยู่กันเป็นสังคม  หากเรามองพิธีกรรมต่างๆ ในลักษณะนี้   ในมุมมองทางบวกเปิดรับ “พยายามหาสิ่งที่เป็นประโยชน์จากสิ่งที่เคยมองว่าไม่มีคุณค่าใด” เพื่อให้เกิดประโยชน์เกิดการพัฒนาความคิดเราออกไปในทิศทางที่สร้างสรรค์



     
            พื้นฐานของการพัฒนาของมนุษย์ คือ การเปิดรับ เปิดมุมมองทุกอย่างๆที่เข้ามา ไม่ปิดกั้นด้วยอคติ แล้วพิจารณาถึงแก่นแท้ก่อนที่จะทิ้งแนวคิดนั้นให้อยู่ในอดีตหรือเก็บมาเป็นแนวทางแห่งชีวิต เพราะไม่เช่นนั้นคนๆนั้นจะอยู่กับที่ ซึ่งการเปิดรับ เป็นพื้นฐานของทุกสาขาอาชีพ ไม่จะอยู่อาชีพใด ในธุรกิจใด หากไม่ปรับตัว เปิดรับสิ่งใหม่ แม้จะขัดแย้งกับความเชื่อ ความคิดเดิมที่มีอยู่ คุณจะกลายผู้คนที่ตกโลกเสมือนอยู่ในโลกที่ยังแบนอยู่ ซึ่งหากจะหาตัวอย่างเพื่อมาเป็นแนวทางว่า ทำไมเราจึงต้องเปิดรับทุกๆมุมมองนั้นมีมากมายจนกล่าวถึงไม่หมดอยู่ที่คุณจะมองและเก็บมาคิดหรือไม่


พิธีกรรมเป็นเพียงสิ่งดึงดูดแรกของศาสนา เพื่อให้ผู้คนที่ยังไม่เข้าใจ ให้ผู้คนที่เชื่อในวัตถุ ในสิ่งที่ตนมองเห็น ในสิ่งที่ตนรับรู้ก่อน เพื่อที่จะได้ให้ผู้คนเหล่านั้นได้มีโอกาสเพิ่มขึ้นที่จะรู้จักธรรมะ แล้วเมื่อพัฒนาความรู้ขึ้นก็จะสามารถเข้าใจสิ่งเหล่านั้นได้ด้วยตัวเอง เลือกที่จะทำเพราะเห็นว่ามีสารประโยชน์อย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น