หากพูดถึงชีวิต เวลาส่วนใหญ่ของการใช้ชีวิต เราจะหมดไปกับการทำมาหาอาชีพ สร้างอาชีพ สร้างธุรกิจ สร้างเนื้อสร้างตัว ตั้งแต่วัยเด็กพ่อแม่ก็ให้เราเรียน เพื่อที่จะได้มีอาชีพการงานที่ดี พอเข้าวัยทำงาน เวลาส่วนใหญ่ในสัปดาห์ก็อยู่กับงานไปจนกระทั่งเกษียณอายุ ในระหว่างที่เรากำลังมุ่งมั่นตั้งหน้าตั้งตาทำงาน บางคนอยู่ในฐานะเจ้านาย บางคนอยู่ในฐานลูกน้อง บางคนมีโอกาสมากก็เปิดบริษัท หรือ ทำธุรกิจส่วนตัวเป็นของตัวเอง ถึงอย่างไรการอยู่ร่วมกันเป็นสังคม การสร้างเงินจากอาชีพใดก็ตาม จะต้องมีกลุ่มคนที่เป็นผู้นำและเป็นผู้ปฏิบัติตามอยู่ในธุรกิจหรือสายอาชีพนั้น เพื่อบรรลุเป้าหมายในความสำเร็จของงาน
หากเราเดินไปร้านหนังสือ ก็จะมีหนังสือที่เขียนออกมามากมายว่าจะเป็นเจ้าที่ดีทำอย่างไร จะเป็นลูกน้องที่ดีทำอย่างไร ทำอย่างไรให้เป็นผู้นำที่ดีได้ ทำอย่างไรให้เจ้านายรัก ทำอย่างไรให้ลูกน้องรัก ท้ายที่สุดหากผู้นำและผู้ตามทำอย่างใดอย่างหนึ่งไปในทิศทางเดียวกัน มีความสามัคคี รักใคร่ปรองดองกัน ความสำเร็จลุล่วงก็จะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นตามมา
เราลองมาอ่านประเด็นของเรื่อง "ในฐานะเจ้านายกับลูกน้อง ต่างฝ่ายจะดูแลกันและกันได้อย่างไร"
จากส่วนหนึ่งของพระสูตร หรือ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงสอนในเรื่องของ ทิศทั้ง 6 โดย เราจะมาดูประเด็นในเรื่องกัน
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำคือ ทาสกรรมกร
อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง ๑
ด้วยการให้อาหารและรางวัล ๑
ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ ๑
ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้ ๑
ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย ๑
คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร
อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ :-
เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย ๑
เลิกงานทีหลังนาย ๑
ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๑
กระทำการงานให้ดีที่สุด ๑
นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ ๑
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
บทธรรมนี้คงเข้าใจกันได้ง่ายๆ เพราะไม่ได้ความซับซ้อนมากนัก ในส่วนแรก นายพึงปฏิบัติ หมายถึง การที่เจ้านายหรือผู้นำควรปฏิบัติกับลูกน้องของตนเอง
ส่วนที่ 2 "การอนุเคราะห์นาย" คือ การที่ลูกน้องควรปฏิบัติกับเจ้านาย ตาม 5 ข้อดั่งกล่าว ซึ่งในข้อสุดท้ายในสังคมวันนี้ คนส่วนใหญ่จะไม่ค่อยได้ทำซักเท่าไหร่นัก การนำเรื่องดีๆ เรื่องที่มีเกียรติ เรื่องความดีงามของเจ้านายไปเล่า ไปประกาศให้ผู้อื่นรับรู้ หาได้น้อยนัก แม้ว่าเจ้านายจะมีส่วนที่ไม่ดี แต่เราก็ไม่ควรที่จะนำเรื่องเหล่านั้นมาคุยลับหลัง ทำให้ไม่ดีของเจ้านายกระจายไปยังลูกน้องคนอื่นๆ ท้ายที่สุดองค์กร บริษัท หรือทีมงานนั้น ก็จะมีแต่ความเคลือบแคลงใจกัน ไม่เป็นอันทำการงานออกมาให้ดีได้ เพราะกลายเป็นความน่าเชื่อถือของเจ้านายกับลูกน้องมีน้อยลง นำมาสู่การโต้เถียงกันมากขึ้น สุดท้ายก็มีแต่ปัญหาตามมา
หากใครที่พึ่งเคยรู้ธรรมะเกี่ยวกับเรื่องเจ้านายกับลูกน้อง ที่ควรปฏิบัติต่อกัน ลองนำไปใช้กันดูนะครับ เพื่อที่จะได้เจริญก้าวหน้าในชีวิต และบรรลุเป้าหมายร่วมกันระหว่างทีมงาน ระหว่างความรัก ความสามัคคีของเจ้านายและลูกน้อง
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น