วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

หลักการชีวิตของคุณเป็นอย่างไร


การค้า ธุรกิจ นำพาความร่ำรวย ความสุขสบายในทางวัตถุมาให้ สามารถตอบสนองความต้องการ ทั้งสิ่งของที่จับต้องได้ และสิ่งที่ไม่คงอยู่เป็นรูปธรรมแน่นิ่ง ซึ่งสามารถส่งผลกระทบถึงอารมณ์ความรู้สึกต่อความพึงพอใจได้ เช่น การบริการ เป็นต้น ระบบธุรกิจเข้าไปอยู่ในทุกๆ อณู ทุกๆ ส่วนของกิจกรรมบนโลกใบนี้ ตั้งแต่สถาบันที่ไม่หวังผลประโยชน์
อย่างมูลนิธิ วัด ศาสนา หรือ สถาบันที่หวังผลประโยชน์ เช่น การรักษาพยาบาล การศึกษา การสร้างสรรค์ การพัฒนา สิ่งบันเทิง การอนุรักษ์ รัฐ ประเทศ การปกครอง การทำลายล้าง ไปจนถึงการกำจัดเศษซากของร่างกายมนุษย์

ไม่ว่าระบอบการปกครองของรัฐจะเป็นรูปแบบใด ทุกประเทศขับเคลื่อนด้วยระบบเศรษฐกิจเป็นสำคัญ นำมาซึ่งการแข่งขัน การเอาชนะ การไม่ยอมแพ้ ความขัดแย้ง การสร้างความร่วมมือเพื่อความอยู่รอดจาการถูกขับเคี่ยว การบดขยี้ศัตรูทางธุรกิจ การก้าวขึ้นเป็นผู้นำทางการค้า การรักษาไว้เพื่อตำแหน่งทางการตลาดที่โดดเด่น เกิดสภาวะของการเกาะติดสถานการณ์หรือการวิ่งตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปของโลก ทุกคนต้องการความมั่นใจในจุดที่ตนอยู่ว่าตัวเองจะไม่ตกจากพาหนะแห่งความเร่งรีบที่รวดเร็วกว่าการคมนาคมใดๆ ในทุกๆ ประเทศ

เมื่อถึงจุดสูงสุดของการสนองความต้องการที่ไร้กรอบหรือขอบเขตใดๆมาบดบัง ที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องตราบเท่าความยาวของการเวลา ซึ่งไม่รู้ว่าจะมีความเป็นไปอย่างไร ด้วยความเคลื่อนไหวของการสร้างสรรค์ที่จะตอบสนองความต้องการหรือแก้ปัญหาที่มีอยู่ หรือ เพื่อสร้างความต้องการใหม่ให้ประทุขึ้น



            ระบบเศรษฐกิจนำมาสู่วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยน ซึ่งโดยส่วนใหญ่ธุรกิจจะมีเป้าหมายทางการเงินเป็นหลัก ถึงแม้ในบางครั้งจะมีการตกลงแลกเปลี่ยนเป็นอย่างอื่น แต่สุดท้ายรายได้หรือผลกำไรจะกลายมาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจ โดยมีวิธีการต่างๆ ที่นำมาวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ มีเหตุผลเชื่อมโยงกัน ทำให้การคาดการณ์เพื่อการลงทุนในสิ่งที่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หรือ นำมาสู่การยกเลิกสิ่งที่กำลังสร้างสรรค์ขึ้น

ถ้าหากมองในเชิงของการแลกเปลี่ยนนั้นหมายความว่า เราจะต้องได้บางอย่างที่มีคุณค่ามากกว่าหรือน้อยกว่าเมื่อเทียบกับสิ่งที่เรามี ไม่ว่าจะเป็นการแลกเปลี่ยนด้วยสิ่งของที่สามารถแก้ปัญหาหรือสนองความต้องการ หรือ การแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ ทักษะความสามารถ  หรือ การตกลงแลกเปลี่ยนเปลี่ยนเป็นเงินตรา

 ความสามารถในการสร้างมูลค่าการแลกเปลี่ยนให้เพิ่มขึ้น ถูกนำมาเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จของชีวิต ไม่ว่าจะอยู่ในประเทศที่ยากจนที่สุดหรือประเทศที่ร่ำรวยที่สุดก็มีวัฒนธรรมนี้ฝังแน่นอยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ ทำให้บุคคลกระเสือกกระสนดิ้นรน ไขว่คว้า สร้างการยอมรับในตัวตนของตน ทำทุกวิธีการเพื่อให้ได้มาซึ่งจุดสูงสุดของชีวิตที่มีพื้นฐานจากวัฒนธรรมของการแลกเปลี่ยน ยอมแลกทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเงินทองที่มีอยู่เพื่อใช้ต่อยอด ศักยภาพในตัว ความทุ่มเท ความมุ่งมั่น ความอดทน ความพยายาม กำลังกาย กำลังสมอง สละได้แม้กระทั่งเวลาของพ่อแม่ ครอบครัว ญาติพี่น้อง เพื่อนฝูง คนรู้จักหรือเพื่อนมนุษย์ และที่สำคัญที่สุด คือ การสละเวลาในการทำความเข้าใจชีวิตเพื่อให้เข้าถึงแก่นแท้ของความเป็นจริง



            เมื่อเรามีเป้าหมายที่จะมุ่งไปให้ถึงที่สุด โดยมีวัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนอยู่ในทุกซอกทุกมุมของการกระทำ ซึ่งเป็นความจริงของสังคมโลกในปัจจุบัน คำถาม คือ

เรายอมบิดเบี้ยวเพราะมองเห็นว่าบางสิ่งเป็นเรื่องเล็กน้อยเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ต้องการหรือไม่ เราพร้อมจะอวยในสิ่งที่เราทำให้ได้รับการยอมแม้สิ่งนั้นจะมีจุดบกพร่องหรือไม่  เราจะยอมโกหกและใส่เล่ห์เหลี่ยมเข้าไปในทุกๆวิธีการของการทำการค้าเพื่อเพิ่มยอดขายหรือสร้างกระแสนิยมในสินค้าของเราหรือไม่ เราจะทำให้ผู้คนหลงอยู่ใน กิเลศตัณหา หลงอยู่ในแนวทางของวัตถุนิยมหรือบริโภคนิยมที่สร้างแต่เพียงภาพลักษณ์และทำให้ผู้คนเลือกซื้อด้วยอารมณ์ อันจะนำมาซึ่งส่วนต่างที่มากขึ้นระหว่างกำไรกับต้นทุนหรือไม่ และเราจะหาเหตุผลความเชื่อมโยงให้ผู้อื่นมองข้ามความเป็นจริงหรือไม่


เราพร้อมที่จะทำตามเป้าหมายโดยยอมแลกเปลี่ยนกับหลักการการดำเนินชีวิตหรือไม่ เราจะยอมทำทุกอย่าง ซึ่งหมายถึง ทุกอย่างจริงๆ ทั้งนามธรรมและรูปธรรมที่เรามีเพื่อทำตามเป้าหมายชีวิตอันมั่งคั่งเฟื่องฟู หรือ เราจะอยู่อย่างคนที่ไม่เหลืออะไรเลย ยอมแม้กระทั่งกลายเป็นคนที่หมดสิ้นไม่เหลือแม้เพียงทรัพย์สินใดๆ เพื่อแลกกับจุดยืนหนึ่งของชีวิต ซึ่งต้องใช้มากกว่าสัมผัสทั้ง 5 ของมนุษย์จึงจะหยั่งถึงได้ นั่น คือ “ความถูกต้อง” ที่มีเพียงตัวเราเท่านั้นที่รู้ได้ว่าสิ่งใดถูกหรือผิดจากการพิจารณาด้วยตัวเราเอง เราจะเป็นผู้รักษาความซื่อตรง อันตรงข้ามกับการทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างเพื่อการแลกเปลี่ยนให้ได้มาในสิ่งที่ตนปรารถนาหรือไม่ เราจะรักษาคำกล่าวที่ว่า ยอมเสียทรัพย์เพื่อรักษาอวัยวะ ยอมสละอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ยอมสละชีวิตเพื่อรักษาธรรม หรือไม่ และคุณจะถือคำกล่าวนี้ตลอดทางของชีวิต ไม่ว่าจะเจอกับอุปสรรคใดๆที่ถาโถมเข้ามาหรือไม่......

1 ความคิดเห็น:

  1. บางคนเขาว่าไม่ยอมเสียก็ไม่ได้เสี่ยง ไม่ได้เสี่ยงก็ไม่ได้อะไร หยวนบ้าง ยอมบ้าง เราก็ได้ด้วย

    เรื่องอย่างนี้อาจใช้ได้กับบางสถานการณ์ บางกรณี ซึ่งอาจเกิดจากความเต็มใจ ความจำยอม หรือการถูกหักดิบบังคับเอา ก็สุดแล้วแต่ แต่ขอย้ำว่ามันใช้ไม่ได้กับทุกเรื่อง เฉกเช่นแนวความคิดของบทความนี้ที่ชี้ให้เห็น

    อยากให้มีความมั่นคงในปณิธานของชีวิตตน เฉกเช่นเมื่อแรกเริ่มตั้งใจไว้ อย่าสั่นคลอนง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องดีชั่ว มันหยวนกันไม่ได้จริงๆครับ

    ตอบลบ