วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

สัจจะที่แปรเปลี่ยน


เราให้ความสำคัญต่อคำพูดของเราแค่ไหน เราจะรักษาสัญญาที่ให้ไว้จนถึงที่สุดหรือไม่ มีหลายครั้งที่เรากระทำตามที่พูดไว้ได้สำเร็จ แต่ก็มีหลายครั้งเช่นเดียวกันที่เราไม่กระทำตามที่พูดหรือกระทำสิ่งตรงข้ามแทน เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ทั้งที่เรารู้ว่าเรื่องของสัจจะ วาจา จะสร้างความน่าเชื่อถือในแต่ละบุคคลและสามารถทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจในตัวบุคคลนั้นได้เช่นกัน


ลองมาดูประเด็นแรกเพื่อหาคำตอบจากคำถามข้างต้น ในเรื่องของการที่เราไม่รักษาคำพูด นั่นเพราะเรามีโอกาสในการตัดสินใจว่า จะกระทำตามวาจาที่ให้ไว้กับผู้อื่นหรือไม่ ซึ่งต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ก่อนเริ่มกล่าววาจานั้นออกมา ก่อนการตกลงรับคำว่าเราจะกระทำสิ่งใดหรือไม่นั้น เราจะคิดพิจารณากับเรื่องที่เกิดขึ้น ว่าเราจะสามารถทำได้หรือไม่ หลังจากคิดเรียบร้อยแล้วเราจึงให้คำสัญญากับบุคคลอื่น แต่เรารู้อยู่แล้วว่าเรื่องที่ตนเองรับปากไม่ได้มีความสำคัญมากนักหรือเราไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนั้น เราจึงคิดว่าเราสามารถผิดคำนี้ได้ นำมาสู่การไม่รักษาสัจจะ แม้เราจะเข้าใจถึงความสำคัญของมัน ทำให้เมื่อถึงเวลาที่จะต้องลงมือกระทำตามวาจาที่ให้ไว้ เราจึงมีโอกาสที่จะตัดสินใจอีกครั้งว่าจะทำตามหรือไม่ ซึ่งในตอนนั้นเราจะดูบริบท สภาพแวดล้อม อารมณ์ ความพอใจของตนเอง ซึ่งในหลายๆครั้งถ้าหากอารมณ์ไม่ดี ไม่พอใจต่อบุคคลที่ให้วาจาสัจไว้ หรือสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เราจึงสามารถเลือกไม่กระทำตามวาจาที่ให้ไว้ได้ นั่นก็เนื่องมาจากเราไม่ได้เห็นความสำคัญของเรื่องนั้นๆตั้งแต่แรก

เราลองมาดูตัวอย่างกัน บ่ายวันอังคารมีเพื่อนนัดเราไปดื่มเหล้าในเย็นวันศุกร์ซึ่งเป็นวันสิ้นสุดการทำงานของสัปดาห์ เราคิดว่าเรื่องนี้ไม่สำคัญแต่ก็รับปากว่าจะไปดื่มเพราะตนเองยังไม่ได้มีแผนการจะไปพักผ่อนที่ไหน แต่ในเย็นวันศุกร์มีเพื่อนสาวสมัยป.ตรี โทรมานัดไปเที่ยวโดยจะมีเพื่อนๆของเธอตามมาด้วย ซึ่งเธอบรรยายว่ามีเพื่อนของเธอคนหนึ่งที่จะตามมาด้วยนี้สุดแสนจะน่ารักเอาการ แน่นอนว่าเมื่อเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเราจะต้องทำการตัดสินใจเพราะมีสองนัดเกิดขึ้นให้เราได้เลือกไป ในเมื่อเราได้ให้คำสัญญาว่าจะไปเที่ยวกับเพื่อนที่นัดไว้ตั้งแต่บ่ายวันอังคาร แต่ด้วยความที่เราไม่ได้ให้ความสำคัญกับการไปดื่มเหล้าตั้งแต่แรกที่ตกปากรับคำ จึงกลายเป็นว่าเราเลือกที่ไม่รักษาสัจจะตามที่ให้ไว้ เพราะมีความพอใจ มีอารมณ์ร่วมต่อการที่จะได้ไปพบเจอเพื่อนของเพื่อนที่สุดแสนจะน่ารักในนัดใหม่ที่เกิดขึ้น เป็นต้น

จากเหตุการณ์สมมุติข้างต้นทำให้เราได้เห็นว่า ความสำคัญของเรื่องหนึ่งๆ มีผลต่อการรักษาคำพูด หากเรื่องใดที่เราให้ความสำคัญหรือคิดว่ามีผลต่อชีวิต ความก้าวหน้า อนาคต ฯลฯ เราจะกระทำตามสัญญาที่ให้ไว้ แต่นั่นก็ไม่เสมอไปในบางกรณีที่ถึงแม้ว่าเราจะให้ความสำคัญมากถึงมากที่สุด แต่มีเรื่องที่ทำให้เราต้องผิดคำสัญญาได้ เนื่องจากมีเหตุการณ์ใหม่เกิดขึ้นให้เราต้องลงมือกระทำและเหตุการณ์นั้นมีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน ทำให้เราต้องตัดสินใจกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง



ดังนั้นก่อนที่จะตบปากรับคำ กระทำสิ่งใด หรือไม่ทำสิ่งใด เราน่าจะลองคิด พิจารณา ไตร่ตรอง ให้ถี่ถ้วน ในสภาพแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในภายภาคหน้า ซึ่งจะมามีผลทำให้เราทำหรือไม่ทำตามวาจาที่ให้ไว้กับผู้อื่น หากเราได้คาดการณ์มองบริบทในอนาคตไว้แล้ว ว่าเราจะสามารถกระทำตามสัญญาที่ให้ไว้ได้ แต่การพิจารณานั้นเกิดขึ้นในขณะที่เราอยู่ในปัจจุบัน ณ ช่วงเวลานั้น เราจึงต้องเข้าใจถึงไม่ความแน่นอน การเปลี่ยนแปลงของระบบธรรมชาติที่ไม่คงที่ สภาพแวดล้อม สถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงในอนาคตสามารถเกิดขึ้นได้ตลอด อันนำมาสู่การผิดคำสัญญา เราจึงมีความจำเป็นต้องกำหนดขอบเขตต่อคำสัจที่ให้ไว้ว่าเราจะเปลี่ยนกลับคำที่ให้ไว้แล้วไม่กระทำตามจะมาด้วยเหตุผลใด บริบทใดที่ทำให้เราต้องละทิ้งคำสัจนั้น และแจ้งกล่าวให้ผู้ที่เราให้คำสัจ รู้และเข้าใจถึง คำสัจของเรา ว่ามีขอบเขตของคำสัจ มีสภาพแวดล้อมใดสามารถทำให้เกิดการไม่กระทำตามคำพูดที่ให้ไว้ สรุปสั้นๆ คือ “คิดก่อนรับปาก อธิบายขอบเขตก่อนการตกลง”

* ถ้าเรารับปากว่าทำได้ เราต้องแจ้งว่าเราทำได้ในขอบเขตไหน และหากมีขอบเขตใดเปลี่ยนแปลง เราจะไม่สามารถเราจะทำตามวาจานั้นได้   

* ถ้าเราทำไม่ได้เราก็น่าจะต้องบอกว่าเราไม่สามารถทำได้ เพราะเรามีเหตุบริบทที่ทำให้เราทำอย่างนั้นไม่ได้

* ถ้ามีความไม่แน่นอนว่าได้หรือไม่ได้ เราต้องบอกถึงความไม่แน่นอนนั้น เพื่อไม่ให้ผู้อื่นผิดหวังในตัวเรา ทำให้เขารอคอย ทำให้เกิดความทุกข์ ความเป็นกังวลต่อบุคคลนั้น สุดท้ายนำมาสู่การผิดใจกันเพราะเราไม่รักษาวาจาที่ให้ไว้

เพื่อให้วาจาที่เราให้ไว้เป็นสิ่งหนักแน่น มีน้ำหนัก น่าเชื่อถือ เพราะถ้าวาจาเราไม่มีน้ำหนัก จะไม่มีใครมารับฟังรวมไปถึงให้การยอมรับเรา ถึงแม้คุณจะพูดถึงความจริงในภายหลังแล้วก็ตาม ซึ่งการจะทำให้บุคคลยอมรับในน้ำหนักคำพูดของเราใหม่อีกครั้ง จึงเป็นเรื่องยากซึ่งจะต้องใช้เวลาที่ยาวนานในการนำความน่าเชื่อถือนั้นกลับคืนมา

ก่อนจะจบบทความนี้ขอแยกแยะประเด็นเรื่องการรักษาสัจจะ ซึ่งที่กล่าวไปจะเป็นเรื่องของการกำหนดขอบเขตให้เป็นความสำคัญของเรื่องการให้คำมั่นสัญญา เพื่อให้เกิดความเข้าใจต่อทุกฝ่ายต่อสิ่งที่เราพูดออกไป

 แต่.......


ถ้าเราต้องการมีสัจจะในทิศทางแห่งความถูกต้อง ทิศทางแห่งธรรม และความดีทั้งหลายเป็นแนวทางการดำเนินชีวิต “เราต้องไม่กำหนดขอบเขตในการทำความดี” เพราะเรื่องนี้ไม่สามารถกำหนดขอบเขตได้ ซึ่งถ้าเรากำหนดขอบเขตในการทำความดี เมื่อมีเหตุการณ์ สภาพแวดล้อม บริบทใดเปลี่ยนไป นั่นจะทำให้เรานำไปสู่ทิศทางที่ตรงกันข้าม นำไปสู่การหลุดออกจากการรักษาคำพูดที่ให้ไว้ได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น