การคิดค้นธนูถูกสร้างขึ้นด้วยมุมมองที่แตกต่างและกว้างไกลกว่าการสร้างอาวุธระยะประชิดไปเรื่อยๆ
และมีมุมมองของการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า เช่น การใช้แรงที่น้อยกว่าการใช้อาวุธระยะประชิด
เป็นต้น รวมถึงมุมมองในการรักษาระยะห่างเพื่อไม่ให้สิ่งมีชีวิตรู้ตัวจากการเข้าใกล้
มุมมองเหล่านี้นำมาสู่การหาวิธีการสร้างคันธนูพร้อมลูกศรให้สามารถใช้งานได้ในสถานการณ์จริง
นั่นเป็นหนึ่งในคุณสมบัติที่เรียกว่า วิสัยทัศน์ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของ “ผู้นำ”
ในทุกส่วนของสังคมที่มีความเป็นกลุ่มเป็นก้อน
ผู้นำที่ดีจะมีบทบาทในการนำทิศทางของกลุ่มไปยังเป้าหมาย นำความก้าวหน้า ความสำเร็จ
ชัยชนะ และรักษาความเป็นผู้นำในการแข่งขันให้ยืนยาวที่สุด
ผู้นำที่จะนำพาทีมไปสู่ความสำเร็จจะมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล ซึ่งหมายถึง
มุมมองที่มีความเป็นไปได้ในโลกแห่งความจริง เป็นการคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
สามารถมองความเชื่อมโยงออกมาเป็นภาพใหญ่ สามารถสื่อสารและถ่ายทอดให้ผู้อื่นเข้าใจได้
รวมถึงสามารถสร้างแรงบันดาลใจและแรงจูงใจให้กับกลุ่มเพื่อให้ทุกคนยอมทำตามนำไปสู่ทิศทางความสำเร็จที่วางไว้
ผู้นำจะมีลักษณะของการเป็นนักเรียนรู้ตลอดชีวิต
เป็นผู้ศึกษาเปิดรับข้อมูลอยู่ตลอด ไม่ปิดบังความคิดเห็น รับฟังความคิดของผู้อื่น
ไม่สรุปว่าตัวเองเก่ง มีเป้าหมายสูง เขาจะไม่ปล่อยให้ตัวเองติดอยู่กับความสบาย เขาจะวิ่งเข้าไปสู่ความยากเสมอ
ลักษณะสำคัญที่ทำให้เห็นความแตกต่างของผู้นำแต่ละคน คือ การตัดสินใจ วิสัยทัศน์
และการรับความเสี่ยง โดยส่วนใหญ่ผู้ที่มีคุณสมบัติเป็นผู้นำจะมองการไกล ทั้งในช่วงขาขึ้นและขาลง
ว่าจะขึ้นอย่างไรแล้ว ขาลงจะทำอย่างไร กล้าที่จะเสี่ยง กล้าที่จะเจ็บตัว
เพื่อให้ได้อนาคตที่ดีกว่า ส่งผลให้เขามีความกล้าในการตัดสินใจที่สูงขึ้นตามมา
ซึ่งถ้าหากบุคคลใดมีคุณสมบัติเหล่านี้สูงจะเป็นผู้ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อันนำมาสู่การพัฒนาและก้าวนำผู้อื่นอยู่เสมอ
วิธีการในการนำผู้อื่นให้ทำตาม
จากการศึกษามีทั้งหมด 3 วิธี คือ
1.การนำโดยใช้วิธีการทุบโต๊ะสั่งการ
หรือแบบเผด็จการ จะไม่มีการรับฟังความคิดเห็นใดๆ
ต้องการให้กลุ่มทำตามโดยไม่มีการให้เหตุผลหรือเปิดโอกาสรับฟังความเห็น
ซึ่งจะใช้วิธีนี้ในกรณีที่มีเวลาหรือข้อจำกัดมาบีบรัดให้เร่งลงมือกระทำการ เช่น ระหว่างการเดินเรือ กัปตันสั่งให้เรือมุ่งหน้าไปพักที่เกาะแห่งหนึ่งเนื่องจากเกิดลมพายุ และเขามองเห็นว่าหากดื้อฝ่าพายุไปอาจจะนำความสูญเสียของชีวิตมาสู่ลูกเรือได้และทรัพย์สินต่างๆ
ที่บรรทุกมาในเรือ เป็นการสั่งการลงไปให้ลูกเรือทำตามอย่างฉับพลัน เป็นต้น
2. การนำแบบกึ่งเผด็จการ
โดยยังคงต้องการให้ผู้อื่นทำตาม แต่จะชี้แจงให้เหตุผลก่อนว่าทำไมถึงต้องทำเช่นนั้น
ตัวอย่างในกรณีเดียวกัน ก่อนที่จะสั่งการให้ลูกเรือทำตาม เขาจะอธิบายก่อนว่าถ้าเราฝ่าพายุไปต่ออาจเสียหายต่อเสียชีวิตลูกเรือและทรัพย์สินได้
แล้วจึงสั่งการให้ทุกคนทำตาม เป็นต้น
3. การนำแบบชี้แจงเหตุผลว่าทำไมถึงต้องทำตาม เปิดโอกาสให้ทุกคนแสดงความเห็นและหาข้อสรุปร่วมกัน
ถ้าเปรียบเทียบกับวิธีการแรกจำเป็นต้องใช้เวลามากกว่า
แต่จะนำมาซึ่งข้อสรุปที่ทุกคนยอมรับได้ ตัวอย่างเช่น เมื่อเกิดลมพายุในกรณีเดิม กัปตันก็จะแนะนำว่าให้เข้าไปพักที่เกาะรอลมพายุสงบเสียก่อนโดย
แล้วเขาจะถามความคิดเห็นลูกเรือว่าจะไปในทิศทางที่กัปตันต้องการหรือไม่
มีความเห็นหรือทางออกว่าอย่างไร เป็นต้น
วิธีการทั้ง 3 จะถูกใช้ตามสถานการณ์ ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมว่า
ในขณะนั้นควรจะใช้วิธีการนำในลักษณะใด
เพื่อให้กลุ่มผ่านพ้นอุปสรรคหรือวิ่งเข้าสู่เป้าหมายอย่างผู้ชนะได้สำเร็จ
อ้างอิง : สรรค์ชัย เตียวประเสริฐกุล (ม.ป.ป.), Leadership vs. Management (เอกสารประกอบการบรรยาย).
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น