งานสร้างสรรค์ งานบันเทิง เช่น นิยาย ภาพยนตร์
ภาพวาด หรือศิลปะประเภทต่างๆ ล้วนมาจากความคิดสร้างสรรค์ อันมีวิธีการหรือรูปแบบของความคิดที่หลากหลาย
ไม่แน่นอนตายตัว เป็นไปตามสภาวะในขณะนั้นของตัวผู้คิดจะเลือกใช้วิธีการไหนให้งานศิลป์เกิดขึ้น
ในบางครั้งผู้คิดเองอาจไม่ได้มานั่งจดจ่อว่าตัวเองจะใช้วิธีการ รูปแบบ แนวคิด การผสมผสานแบบใด
สิ่งที่พวกเขาจดจ่อ คือ การแก้โจทย์ที่ตั้งไว้ หรือ การมุ่งหาแนวทาง
เพื่อนำเสนอแก่สาธารณะชน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วคนจะเข้าใจว่าพวกเขาเหล่านั้น
มีความคิดที่เรียกว่า “จินตนาการ” หรือดำเนินอาชีพด้วยการขายจินตนาการสร้างความบันเทิงใจ
เรื่องของจินตนาการนั้นผู้คนมากมายกล่าวถึงว่าเป็นสิ่งที่ดี
เป็นตัวสร้างจุดเปลี่ยน จุดเริ่มต้น เรื่องราวใหม่ๆ ให้กับโลก
มนุษย์เราทุกคนมีเจ้าสิ่งนี้อยู่ในตัวทุกคน
อยู่ที่ใครจะนำมาสร้างคุณค่าให้เกิดแก่ผู้อื่นได้มากน้อยแค่ไหน
หรือเห็นความสำคัญของไอ้เจ้าตัวจินตนาการนี้ คำถามคือ
แล้วแหล่งพลังงานของจินตนาการมาจากไหน
หรือมีอะไรเป็นขุมพลังให้เราจินตนาการสามารถก้าวออกไปได้ไกลกว่าเดิม
ถ้าเช่นนั้นเราลองมาดูตัวอย่างกัน
ในวันหนึ่งที่เราตื่นขึ้นมา เราไม่รู้เรื่องอะไรบนโลกนี้เลย ไม่รู้แม้กระทั่งความหิวที่เกิดขึ้นตรงบริเวณท้องเป็นความต้องการอาหารของร่างกาย
เหมือนกับว่า เราผุดขึ้นมา เกิดขึ้นมาบนโลกในลักษณะโตเต็มตัว อายุ 25 ปี พอดิบพอดี
ในวินาทีแรกที่เราลืมตาแล้วมองเห็นแสงอาทิตย์ส่องผ่านมายังดวงตา
ถามว่าเราจะทำอย่างไร เราอาจจะวิ่งหลบแสงอาทิตย์ เพราะรู้สึกแสบตาทันทีที่มองเห็น
หรือ
เราอาจจะยืนมองมันแล้วทำความเข้าใจว่า เพราะมีแสง เราจึงมองเห็นภาพต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นพื้นดิน ต้นไม้ ท้องฟ้า
แม้แต่แขนขาที่อยู่ติดกันกับร่างกายที่รับความรู้สึก และอาจต้องใช้เวลามากพอสมควรกับการทำความเข้าใจเรื่องที่แสนจะธรรมดาแบบนี้
ในสภาวะของความไม่รู้อะไรเลย
แม้ว่าเราจะสามารถทำเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ แต่ถ้าเราไม่มีความทรงจำจะเป็นอย่างไร
เมื่อผ่านไป 5 ชั่วโมงหลังจากที่เราทำความเข้าใจดวงอาทิตย์ได้เรียบร้อยแล้ว เรากลับลืมทุกอย่าง
กลับไปเป็นสมองที่ว่างเปล่า เหมือนในครั้งแรกที่ผุดขึ้นมาบนโลกใบนี้
หากเป็นเช่นนี้มนุษย์ผู้สร้างสรรค์จะมีจินตนาการได้ไหม? ในเมื่อเราจำอะไรไม่ได้
พอรู้ตัวอีกทีจำต้องมานั่งทำความเข้าใจแสงจากพระอาทิตย์ใหม่ เมื่อทำความเข้าใจเสร็จ
ก็จะลืมมันไปอีก ซึ่งจะเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จินตนาการจึงเกิดไม่ได้
ถ้าไม่มีการเรียนรู้และความทรงจำ เช่น
เมื่อเราเรียนรู้ว่าโลกมีพระอาทิตย์หนึ่งดวง เราอาศัยอยู่บนโลก เราเคยเห็นดาวหางผ่านมาทุกๆ
20 ปี เมื่อเราใส่จินตนาการเข้าไปเพื่อเขียนนิยาย ว่า โลกอนาคตใน 50 ปีข้างหน้า
จะมีพระอาทิตย์โคจรในลักษณะเดียวกับดาวหางผ่านมา 5 ดวง ดวงที่ 1
ทำให้ต้นไม้แห้งเหี่ยวตาย ดวงที่ 2 ทำให้น้ำในทะเลเหลือ เพียง 1 ใน 10 ส่วน
จนกระทั่งดวงที่ 5 โลกละลายเหมือนหยดน้ำ ทำให้มนุษย์ต้องออกไปอยู่ในอีกกาแลกซี่หนึ่ง
กลายเป็นนิยายอวกาศไป ถ้าเราไม่รู้จักพระอาทิตย์ ไม่รู้จักดาวหาง ไม่รู้จักโลก
ไม่รู้ว่าเราเป็นมนุษย์ เราจะจินตนาการได้อย่างไรว่า มีพระอาทิตย์ผ่านมา 5
ดวง อยู่เฉยๆ
พอเราเกิดมาในลักษณะผุดขึ้นมาแบบที่ยกตัวอย่างไป เมื่อลืมตาเห็นแสงอาทิตย์แล้วจะจินตนาการได้เลยว่า
ในกาลเวลาต่อไปข้างหน้าจะมีพระอาทิตย์ผ่านมา 5 ดวง
จินตนาการ เป็นความคิดปรุงแต่ง
เป็นการสร้างใหม่จากสิ่งที่มีอยู่ เราเห็นโต๊ะ เราจึงจินตนาการได้ว่า
อนาคตจะมีโต๊ะล่องหน หากเราจะนิยามอะไร จะต้องมีสิ่งหนึ่งมาเป็นฐาน มาเทียบเคียง
ไม่เช่นนั้นเราจะอธิบายสิ่งนั้นไม่ได้ นั่นเป็นหลักธรรมชาติอย่างหนึ่ง
จินตนาการเป็นนามธรรมอยู่ภายในของมนุษย์ จินตนาการ อาศัยความทรงจำ การเรียนรู้
เมื่อเราสามารถทำความเข้าในสิ่งต่างๆบนโลกได้แล้ว มีคลังความทรงจำนี้ เราจึงหยิบสิ่งของชิ้นที่หนึ่ง
มาผสมกับชิ้นสอง กลายเป็นสิ่งใหม่ เป็นจินตนาการปรุงแต่งจากสิ่งที่มีอยู่ ซึ่งแท้จริงแล้วมีสิ่งเดิมเป็นฐานอาศัยในการสร้าง
ไม่เช่นนั้นเราจะจินตนาการไม่ได้เหมือนที่ยกตัวอย่างไป
เพราะฉะนั้น
หากเราจะเป็นนักจินตนาการที่เก่งกาจ เราต้องเป็นนักเรียนรู้ที่เก่งกาจเช่นเดียวกัน
หากเรารู้มาก เราก็ยิ่งจินตนาการได้มาก เปรียบเหมือนเรามีวัตถุดิบในการทำอาหารมาก
หากเรามีเนื้อสัตว์หลายชนิด มีเครื่องเทศหลายอย่าง
เราจะสามารถปรุงแต่งอาหารออกมาได้มากมาย ให้ได้ผู้คนบนโลกใบนี้ได้ชิม ลิ้มรส
สูตรอาหารใหม่ๆที่มาจากการจินตนาการ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น