หลักการแนวคิด วิธีการ สูตรสำเร็จ เคล็ดลับต่างๆ
เกี่ยวกับความสำเร็จในชีวิตถูกรวบรวมออกมามากมาย โดยส่วนใหญ่วิธีการเหล่านี้พูดถึงช่วงระหว่างทางเดินไปสู่ความสำเร็จ
หรือช่วงตรงกลางระหว่างจุดเริ่มต้นกับปลายทาง แต่วิธีการแนวทางของจุดเริ่มต้นและจุดสิ้นสุดของเรื่องราวนี้มีอยู่ไม่มาก
ทั้งที่จุดเริ่มต้นและจุดจบของความสำเร็จมีบทบาทอันสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้
เพราะถ้าไม่มีจุดเริ่มต้นที่สำคัญมากพอให้เริ่มลงมือกระทำการใดๆให้สิ่งนั้นสำเร็จ
ก็คงไม่มีเรื่องราว วิธีการฟันฝ่าอุปสรรคมากมายมาบอกเล่า หรือนำมาเป็นแนวทางประยุกต์ใช้เมื่อเจอกับสถานการณ์ที่มีความใกล้เคียงกัน
รวมไปถึงจุดสิ้นสุดของความสำเร็จที่มีบทบาทสำคัญเช่นเดียวกัน
แนวคิดจุดเริ่มต้นของการลงมือทำสิ่งใดๆ
ที่พบจากคำแนะนำของผู้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่พวกเขาทำ จะมีอยู่ 2 แนวคิด แนวคิดแรก
คือ “หากเราจะทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ จงเริ่มต้นจากสิ่งที่เราชอบ
สิ่งที่เรารัก” เพราะความชอบ
ความรักในสิ่งที่เราทำจะสร้างสิ่งใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเสมอ จะเป็นแรงบันดาลใจ เป็นตัวผลักดันในสิ่งที่ทำ
ทำให้เรามีความมุ่งมั่นต่อสู้กับอุปสรรคปัญหาต่างๆที่ผ่านเข้ามา
เราจะอยู่กับเรื่องราวที่เราชอบได้นาน มีความมั่งคงในเส้นทางที่เราเลือก ด้วยความชอบ
ความรักในสิ่งที่ทำจะถูกใช้เป็นเหตุผลหลักเพื่อรองรับความเชื่อว่าเราจะประสบความสำเร็จได้หากทำสิ่งที่ชอบ
และกลายเป็นปัจจัยหนึ่งในการตอบคำถามว่าเหตุใดถึงทำสิ่งเหล่านั้นจนประสบความสำเร็จได้
แต่แนวคิดของการเลือกทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รัก
แล้วนำมาเป็นปัจจัยในการเริ่มต้นเพื่อสร้างความสำเร็จ
จะเกิดปัญหาสำหรับคนที่ไม่ได้มีอะไรชอบเป็นพิเศษ ไม่ได้รักอะไรมาก
ไม่ได้ใช้เวลาอยู่กับสิ่งใดเป็นประจำ เฉลี่ยเวลาออกมาจะเห็นได้ว่าทำสิ่งต่างๆ
ด้วยเวลาเท่าๆ กัน คนที่มีลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้เวลามหาศาลเพื่อ “ค้นหาตัวเอง”
จากเหตุที่ว่าตัวเองไม่ได้ชอบสิ่งใดเป็นพิเศษเมื่อมีความเชื่อแนวคิดจึงต้องค้นหาตัวเองไปเรื่อยๆ
ทดลองทำไปเรื่อยๆ กลายเป็นคนที่ดูไม่มีทิศทาง ไม่มีเป้าหมายในชีวิต
ทำให้เกิดผลเสียที่ส่งผลกระทบร้ายแรง กลายเป็นคนทำอะไรไม่ประสบความสำเร็จ
สังคมไม่ยอมรับ เพียงเพราะคนๆนี้หาตัวเองไม่เจอ
ซึ่งแท้จริงแล้วไม่ได้ความว่าเขาคนนี้ไม่ได้เป็นคนที่ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างความสำเร็จสักหน่อย
อีกปัญหาหนึ่ง
คือ เมื่อบุคคลมีความชอบในสิ่งใดแล้วลงมือทำกับสิ่งที่ชอบไปเรื่อยๆ แต่วันหนึ่งกลับพบว่าความชอบในสิ่งเหล่านั้นได้หายไปจากใจ
เมื่อไม่พบความชอบ ความรักในสิ่งนั้นอีกต่อไป ก็นำมาเป็นสาเหตุในการล้มเลิกภารกิจเดิมที่ตั้งไว้
เพราะตนได้ตั้งวัตถุประสงค์ว่าจะลงมือทำในสิ่งที่ชอบ สิ่งที่รักเท่านั้น
และเชื่อด้วยว่าด้วยเหตุผลนี้จะทำให้การเริ่มลงมือทำสิ่งใดจะนำมาสู่ผลสำเร็จ
เราลองมาดูแนวคิดที่สอง ในการหาจุดเริ่มต้นเพื่อเริ่มลงมือทำสิ่งหนึ่งๆ
ให้ประสบความสำเร็จ นั่นคือ แนวคิดที่ว่า “การทำในสิ่งที่ชอบไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความรู้
ความสามารถ ศักยภาพที่เพียงพอต่อการสร้างสรรค์สิ่งเหล่านั้นให้ประสบความสำเร็จได้ ดังนั้น
การจะลงมือกระทำสิ่งใดให้มองที่โอกาสของสิ่งเหล่านั้นว่ายังมีอยู่หรือไม่ รวมไปถึงความสามารถที่ตนเองมีอยู่ด้วย”
อันเป็นทั้งความรู้และทักษะเฉพาะของตน
เพราะทั้งสองปัจจัยนี้เป็นสิ่งสำคัญในการประสบความสำเร็จ และการทำสิ่งต่างๆให้บรรลุเป้าหมาย
หากสิ่งที่เราลงมือไม่มีโอกาสหลงเหลืออยู่ มีการแข่งขันที่รุนแรง เราไม่มีความสามารถเพียงพอหรือเราอาจจะมีมุมมองที่ดีแต่ลงมือปฏิบัติไม่ได้เนื่องจากติดขัดด้านเทคนิค
ความเป็นไปได้ของความปรารถนาก็จะกลายเป็นความเลือนลางไป
แนวคิดที่สองนี้มองในมุมของความเป็นไปได้เป็นหลัก
มุ่งทำเหตุให้เหมาะสม อันจะนำผลของความสำเร็จในภายภาคหน้ามาให้ แต่สำหรับคนที่เชื่อในแนวคิดแรกจะสามารถแย้งได้ว่าถ้าทำในสิ่งที่ไม่ชอบจะประสบความสำเร็จได้อย่างไร
จะมีแรงผลักดันใดหละที่จะทำให้ต่อสู้กับอุปสรรคได้
แน่นอนว่าทั้งสองแนวคิดที่ยืนอยู่คนละข้างแบบนี้ไม่อาจหาข้อสรุปที่แน่ชัด
แนวคิดที่สองมองด้วยเหตุผล ความเชื่อมโยงจากภายนอกเข้าสู่ภายใน แนวคิดแรกมองด้วยความฝัน
จินตนาการ ความรัก หรือมองจากภายในส่งออกสู่ภายนอก
แล้วแนวคิดใดที่ควรจะนำมาเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์
คำถามนี้กลายเป็นปัญหาโลกแตกไปในทันใด
จากทั้ง 2 แนวคิด
เราจึงได้ข้อสรุปในการเริ่มต้นสร้างความสำเร็จให้เกิดขึ้น คือ
ไม่มีหลักการใดที่เราสามารถยึดเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างสรรค์ได้ดีที่สุด
ทุกหลักการมีข้อดี และข้อเสีย เราจำต้องนำทั้งหมดมาใช้
ไม่ว่าเราจะเลือกใช้แนวคิดไหน สิ่งสำคัญที่จะส่งผลต่อความสำเร็จเป็นอย่างมาก คือ การไม่ยึดติดในสิ่งที่ทำมากเกินไปจนทำให้เราล้มเหลวไปในที่สุด
เช่น ในกรณีของสภาพแวดล้อมภายนอกเปลี่ยนแปลง สิ่งที่เราทำ สิ่งที่เราสร้างขึ้นหมดความนิยมลงไป
แล้วเราไม่เปลี่ยนแปลง ทำแต่สิ่งเดิมๆ ส่งผลให้ความสำเร็จที่ไขว่คว้าจะไกลออกไป เราจึงต้องประเมินสถานการณ์เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นและต้องตัดสินใจว่าเราจะดำเนินการทำสิ่งนี้ที่เรายังพอใจอีกหรือไม่
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น